คัดลอก URL แล้ว
ก้าวสู่ภาวะ “โลกเดือด”  – อะไรที่คนไทยต้องรู้

ก้าวสู่ภาวะ “โลกเดือด” – อะไรที่คนไทยต้องรู้

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวในภายหลังจากการประชุมร่วมกับ นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization – WMO) ที่สำนักงานขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า

ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค “โลกเดือด”

อะไรคือภาวะโลกเดือด

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โลกกำลังเผชิญกับสภาพอุณหภูมิที่สุดที่สุด โดยแนวโน้มของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เดือนกรกฎาคม 2566 นี้ ถูกบันทึกว่า เป็นเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ในขณะที่อุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรก็อยู่ระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีบันทึกมาก่อนเช่นกัน

ความผิดปรกติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงถือเป็นวิกฤติของโลกอย่างแท้จริง เนื่องจากไม่มีพื้นที่ใด ๆ ในโลกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ต่างกันเพียงระดับความรุนแรง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สภาพอากาศสุดขั้ว จากภาวะโลกเดือด

ในปี 2566 นี้ สถานการณ์โลกร้อนได้รุนแรงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับสภาพอากาศ “ร้อนที่สุด” ในรอบหลายปี เช่น จีน เผชิญอากาศร้อนสูงถึง 52.2 องศาเซลเซียส หลายประเทศทางตอนใต้ของยุโรป เช่น กรีซ อิตาลี เผชิญสภาพอากาศร้อนจัด ญี่ปุ่น มีอุณหภูมิมสูงแตะ 38 องศาฯ และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรกแล้ว

นอกจากนี้ สภาพอากาศร้อนจัดที่เกิดขึ้น ยังคงส่งผลให้น้ำทะเลระเหยและสะสมตัวมากขึ้น กลายเป็นพายุฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ เช่น อินเดีย ปากีสถาน หรือที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศจีนในขณะนี้

ในขณะที่บางพื้นที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดไฟป่าที่รุนแรง และมีขนาดใหญ่ขึ้น และส่งผลกระทบที่ยาวนานต่อเนื่องมากขึ้น จากการควบคุม-ดับไฟที่ทำได้ยากขึ้น

สภาวะขาดแคลนอาหาร

จากสภาพอากาศร้อน แห้งแล้งที่รุนแรงมากขึ้น ในขณะที่พายุฝนจะมีความรุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรจะได้รับผลกระทบมากขึ้น ทั้งจากภัยแล้ง และน้ำท่วม จึงมีโอกาสที่จะเสียหายได้มากขึ้น

สภาพอากาศยังส่งผลต่อปศุสัตว์ทำให้ผลผลิตลดลง ท่ามกลางต้นทุนอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น สภาวะของน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น จะส่งผลต่อสัตว์ทะเล เช่น ปลาที่จะมีปริมาณน้อยลง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในทุกครั้งที่เกิดสภาวะของเอลนิโญ

นั่นจึงหมายความว่า ปริมาณอาหารจะลดน้อยลง สวนทางกับราคาอาหารจะค่อย ๆ ขยับเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำก่อนเป็นลำดับแรก ที่จะต้องแบกรับผลกระทบจากราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น

โรคใหม่อาจเกิดขึ้น กระจายได้มากขึ้น

สภาพอากาศที่ผิดแปลกแตกต่างไปจากเดิมจะส่งผลให้ พืชบางชนิดได้รับผลกระทบ ฤดูการเพาะปลูกจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งที่คุกคามมากขึ้น

สภาพอากาศร้อน-ชื้น จะส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดสามารถแพร่กระจายได้เร็วมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย ยังคงกังวลต่อการละลายของธารน้ำแข็ง และน้ำแข็งขั้วโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ที่ถูกแช่แข็งอาจจะฟื้นกลับมาอีกครั้งจากการละลายของน้ำแข็งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า สภาพอากาศร้อนที่เกิดขึ้นจากภาวะโรคร้อน ทำให้เชื้อโรค หรือ เชื้อราหลายชนิดมีแนวโน้มที่จะ “ดื้อยา” มากขึ้น

ในขณะที่พื้นที่ในเขตร้อนชื้น จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศทำให้บรรดาแมลงต่าง ๆ เช่น ยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคเข้าสู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การเกิดโรคใหม่ หรือความรุนแรงในวงที่กว้างมากขึ้นได้


ข้อมูล –


ข่าวที่เกี่ยวข้อง