‘จรัญ’ อดีตตุลาการศาลศาล รธน. ระบุไม่มีอำนาจสั่งระงับไม่ให้โหวตนายกฯชั่วคราวได้ เพราะเป็นเรื่องกิจการภายในของสภา
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย ที่ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท ถึงกรณีที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีมติรัฐสภาเรื่องข้อบังคับที่ 41 ที่ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกลซ้ำ เพราะถือว่าเป็นมติที่ตกไปแล้ว และขอให้ศาลสั่งให้สภาไม่ให้โหวตนายกฯ รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งนั้น ว่าจากการพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้ ดังนั้น อยู่ที่ว่าศาลท่านจะรับหรือไม่รับคดีนี้ก็ได้ เพราะท่านเห็นว่าไม่มีโอกาสพิจารณา หรือไม่อยู่ในอำนาจ
ทั้งนี้ สำหรับอำนาจที่ศาล รธน.ทำได้เป็นเรื่องที่ถูกละเมิดโดยตรง เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ที่ให้อำนาจไว้ เช่น เรื่องที่ผู้ตรวจการส่งมาจะต้องเป็นเรื่องที่ถูกละเมิดโดยตรงจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม การที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบกฎหมายของเรา ศาลก็ดี สภาก็ดี ท่านไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจรัฐในการปกครอง แต่เป็นผู้ใช้อำนาจของประชาชน ซึ่งรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปตรวจสอบของสภา ซึ่งเป็นหน่วยงาน หรือการทำงานภายในของเขาไม่ได้ เพราะเรื่องเหล่านี้จะต้องใช้กฎหมายใดก็ใช้บทบัญญัติกฎหมายนั้น ต้องเป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ยกเว้นพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
นายจรัญกล่าวว่า หากตรวจสอบจริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องของศาลปกครอง ซึ่งก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ไปตรวจสอบระดับการเมือง ครม. หรือรัฐสภา เมื่อไม่ใช่บทบัญญัติระดับกฎหมาย พ.ร.บ. ก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้ได้ตามมาตรา 48 และ 46 วรรคสุดท้าย กลายเป็นศาลไม่มีอยู่ในเขตอำนาจรับไว้ในคดี ส่วนจะใช้กฎหมายใดเป็นเรื่องของรัฐสภาว่าจะใช้กฎหมายใด
ถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบในประเด็นใดบ้างนั้น มองว่า ในประเด็นนี้ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดเลยที่จะให้ไปตรวจสอบข้อบังคับรัฐสภา เว้นแต่ตรวจสอบร่างข้อบังคับก่อนประกาศใช้เพื่อกลั่นกรองให้รอบคอบให้กับรัฐสภา แต่ถ้าประกาศใช้แล้วก็ไม่มีอื่นใดเลย จะให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ระงับ หรือโหวตนายกฯชั่วคราวไปก่อนไม่ได้ ห้ามศาลใดศาลหนึ่ง แต่สามารถสั่ง ส.ส.หรือ ส.ว.หรือรัฐมนตรีหยุดทำหน้าที่ได้ หากมีความจำเป็น