คัดลอก URL แล้ว
[บทวิเคราะห์] ถอดสมการ “โหวตนายกฯ ” อะไรก็เกิดขึ้นได้

[บทวิเคราะห์] ถอดสมการ “โหวตนายกฯ ” อะไรก็เกิดขึ้นได้

ผลการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวานที่ผ่านมา (19 ก.ค.) ในวาระของการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทยจบลงด้วยมติที่ประชุมรัฐสภา เป็นว่า การเสนอญัตติเลือกนายกฯ ที่มีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์นั้น เป็นญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 และไม่อาจจะเสนอซ้ำได้ ส่งผลให้การโหวตเลือกนายกฯ ไม่เกิดขึ้น

ยังไม่รวมถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเอกฉันท์ในการรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในกรณีการถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมทั้งมีมติเสียงข้างมาก 7:2 ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ยุติการปฏิบัติหน้าที่สส. ทันทีจนกว่าการพิจารณาจะเสร็จสิ้น

นั่นทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า แล้วสุดท้าย นายกฯ คนที่ 30 ของไทยจะเป็นใคร?

แรงกดดันทั้งหมดกลับเปลี่ยนจากฝั่งของก้าวไกล ที่มีแคนดิเดตนายกฯ เพียง 1 คนเท่านั้น ไปสู่พรรคเพื่อไทย ที่มีแคนดิเดตนายกฯ ทั้งหมด 3 คน แต่ที่ถูกล่าวถึงอย่างมากและมีความเป็นไปได้สูง มีเพียง 2 ชื่อนั้นคือ

ส่วนชื่อที่ 3 คือ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 ที่ภายหลังจากป่วยและต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในจังหวัดน่าน ข่าวคราวของนายชัยเกษม ก็หายเงียบไป จนหลายคนลืมไปแล้วว่า พรรคเพื่อไทยมีแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3

ดังนั้นหากวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในตัวเลือกที่มีอยู่ในขณะนี้ มีความเป็นไปได้ทั้งหมดก็มีโอกาสที่จะโหวตนายกฯ ได้ คือ

โหวตนายกฯ รอบ 3 – เศรษฐา ทวีสิน

ชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยนั้นถือเป็นชื่อแรกที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า จะปรากฎชื่อในการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ค. 2566 นี้ แน่นอน

แต่นายเศรษฐา จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ของไทยหรือไม่นั้น ยังคงมีปัจจัยสำคัญอยู่พอสมควร นั่นคือ คะแนนเสียงในการลงมติโหวตเลือกนายกฯ ที่จะต้องเพิ่มขึ้นมากอีกอย่างน้อย 65 เสียง ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้นั้น มีความเป็นไปได้ 3 ทางคือ

แนวทางที่หนึ่ง – เสียงจาก สว. และ สส. แต่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล
ซึ่งในแนวทางนี้ หมายความว่า ข้อสำคัญน่าจะอยู่ที่ ท่าทีของก้าวไกลว่า จะถอยในเรื่อง 112 หรือไม่ เพราะจากการอภิปรายที่ผ่านมา ท่าทีของสว. พูดถึงในประเด็นนี้อย่างชัดเจน

แต่แนวทางนี้ ดูแล้วจะเป็นไปได้ไม่มากนัก จากคะแนนเสียงการโหวตที่เกิดขึ้นใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งการโหวตนายกฯ ครั้งแรก และการลงมติเมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) ที่ส่งสัญญาณ “ไม่เอาก้าวไกล” มากกว่าแค่ไม่ให้นายพิธา ได้เป็นนายกฯ

แนวทางที่สอง – หาพรรคร่วมเพิ่ม โดยที่ก้าวไกลยังอยู่

ในแนวทางนี้ มีความเป็นไปได้มากกว่าในแนวทางแรก โดยเฉพาะชื่อของพรรคภูมิใจไทย ที่จะมีคะแนนเสียงในขณะนี้คือ 71 เสียง นั่นทำให้จำนวนของสส. ที่จะยกมือโหวตนายกฯ เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาทันที

แต่นั่นหมายความว่า เก้าอี้รัฐมนตรี ที่จะต้องแบ่งมาให้กับภูมิใจไทยอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีชื่อของพรรคชาตไทยพัฒนาพ่วงมาด้วย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ คงต้องดู หมายเหตุตัวใหญ่ ๆ ของการที่ทั้งภูมิใจไทย และ ชาติไทยพัฒนาที่มีเหมือนกันคือ “ไม่เอาพรรคที่แตะ ม.112”

ดังนั้นในกรณีนี้ คงต้องดูว่า พรรคก้าวไกลยอมถอย เรื่อง ม.112 หรือไม่ และแม้ว่า ก้าวไกลจะยอมถอยในประเด็นนี้ ก็ต้องดูว่า ทั้งภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาจะร่วมด้วยหรือไม่อีกครั้ง

ซึ่งประเมินจากแนวทางที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ถือว่า “เป็นสมการที่มีความเป็นไปได้น้อยมาก” เว้นแต่พรรคเพื่อไทย จะหั่น พรรคก้าวไกลออกจากพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่การโหวตในรอบนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ไม่มากนัก หลายฝ่ายเชื่อว่า พรรคก้าวไกลน่าจะยังคงอยู่ในฐานะ 8 พรรคร่วมฯ ในการโหวตครั้งที่ 3 นี้

โหวตนายกฯ รอบ 4 – อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร

ซึ่งจากการประเมินในขณะนี้ แนวโน้มส่วนใหญ่มองข้ามมาถึงการโหวตนายกฯ รอบที่ 4 และเป็นรอบที่ดูจะมีความเป็นไปได้สูง ทั้งกระแสจากภายในพรรค และนอกพรรค โดยเฉพาะความเป็นครอบครัว “ชินวัตร” หลายฝ่ายจึงคาดว่า ในการโหวตนายกฯ ครั้ง 3 นั้น อาจจะเป็นการ “หยั่งเชิง” ในหลายมิติ รวมถึงภาพของคงความเป็น 8 พรรคร่วม เพื่อแสดงให้เห็นว่า “เพื่อไทย พยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว” ในการขับเคลื่อน MOU ของ 8 พรรคร่วมที่มี “พรรคก้าวไกล” อยู่ในสมการด้วย

แต่เมื่อไปไม่ถึงฝั่งฝัน โหวตครั้งที่ 3 นายเศรษฐา ยังไม่ได้ขึ้นตำแหน่งนายกฯ และไม่สามารถเสนอโหวตซ้ำได้ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร จึงเป็นเหตุผลที่ดีในการชื่อเสนอโหวตนายกฯ ครั้งที่ 4 นี้

สิ่งสำคัญในการโหวตครั้งที่ 4 ที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก และมีกระแสข่าวลือที่รุนแรงมากนั่นคือ การที่เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “โดยไม่มีพรรคก้าวไกล” ผ่านการดึงพรรคอื่น ๆ เข้าร่วมในสมการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้เสียงข้างมาก ควบคู่กับเสียงสนับสนุนจาก สว.

และนั่นทำให้ สมการนี้ ดูมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก

โหวตนายกฯ ครั้งที่ 5 – ชง “นายกฯ คนนอก”

แน่นอนว่า แม้หลายฝ่ายคาดการณ์ถึงการโหวตเลือกนายกฯ ที่น่าจะจบในการโหวตครั้งที่ 4 แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในการเมืองไทยขณะนี้ ท่ามกลางความเหนียวแน่นของ สว. ที่แสดงให้เห็นผ่านการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 1 และ 2

หากทั้งเศรษฐา และ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ไม่สามารถฝ่าด่านอรหันต์ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้ การโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 5 แม้เพื่อไทยจะมีแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 แต่นั่นอยู่ที่ว่า “จะมีดีลลับ” อะไรอีกหรือไม่ เพื่อเปิดทางยังทางออกอีกทางหนึ่งคือ

รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ที่ระบุว่า

“…ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

ดังนั้นจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสองนี้ เปิดช่องให้รัฐสภาเสนอชื่อ “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ และเห็นชอบในการแต่งตั้ง “นายกฯ คนนอก”

หนึ่งในปัจจัยหลักที่จะไปถึงการโหวตนายกฯ ครั้งที่ 5 นี้ ดูจะเป็นเหตุผลหลักที่มองเห็น คือ การที่พรรคก้าวไกล ยังคงเกาะร่วมอยู่ในสมการ 8 พรรคร่วมอย่างเหนียวแน่น ไม่ลดเพดาน ม.112 และยังไม่สามารถหาจุดลงตัวของการดึงพรรคอื่น ๆ เข้ามาในสมการมากพอได้ ทำให้คะแนนเสียง สว. ยังคงเป็นเงื่อนไข ของการโหวตนายกฯ

ก่อนหน้านี้ มีคำกล่าวที่ว่า สว. ชุดนี้ จะเหลืออีกไม่มากนัก เพียง 10 เดือนเท่านั้น ก็เสนอโหวตกันไปเรื่อย ๆ จนกว่า สว. จะครบเทอม แต่ต้องระลึกไว้ว่า รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เหลือน้อยมาก และไม่สามารถเสนอซ้ำได้ ต่อให้โหวตกันเดือนละหนึ่งครั้ง แต่ก็คงประเมินได้ว่า “รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ คงหมดก่อน”

คำถามถัดมาคือ ชื่อของนายกฯ คนนอกที่จะถูกเสนอเข้ามาคือใคร?

ซึ่งในขณะนี้ มีกระแสข่าวลือกันในหลายรายชื่อด้วยกัน แม้จะเป็นกระแสที่ไม่แรงมาก แต่ก็มีการพูดถึงกันอยู่ แต่ถ้าหากผ่านการโหวตในครั้งที่ 3 แล้ว เชื่อว่า กระแสนี้ จะแรงขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการโหวตนายกฯ ไปถึงครั้งที่ 5 มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนัก เพราะเพื่อไทยคงไม่ปล่อยผ่านไปถึงจุดนั้นอย่างแน่นอน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง