ภายหลังจากที่เริ่มการประชุมรัฐสภา ในวาระสำคัญคือการพิจารณาเลือกนายกฯ โดยในเวลาประมาณ 09.40 น. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ขอใช้สิทธิประท้วงตามกฎข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 กรณีห้ามนำญัตติที่ตกไปแล้ว นำเสนอต่อสภาซ้ำในสมัยเดียวกัน โดยนายอัครเดช ระบุว่า ข้อบังคับฯ ของรัฐสภานั้น มีระดับเท่ากับ พ.ร.บ. ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตาม รังสิมันต์ โรม ได้ยกมือขึ้นประท้วงนายอัครเดช ให้รัฐสภาทำตามรัฐธรรมนูญ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานฯ ระบุว่า เป็นการแสดงความคิดเห็น ยังไม่ได้มีการลงมติ หรือ อภิปรายใด ๆ ให้นายอัครเดชพูดต่อ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ประท้วง ระบุ อยู่ในขั้นตอนการเสนอชื่อ ขอให้สภาลงมติเห็นชอบให้ครบถ้วนก่อน นายวันมูหะมัดนอร์ ถือว่า ขั้นตอนยังรับรองยังไม่จบสิ้น ดังนั้นจึงให้ นายอัครเดชรอ ให้สภารับรองการเสนอชื่อให้จบก่อน จึงค่อยประท้วง ในขณะนี้ เข้าสู่ขั้นตอนการเสียบบัตรแสดงตนรับรองการเสนอชื่อนายพิธา
กระบวนการเสนอชื่อเป็นที่เรียบร้อย มีเพียงรายชื่อเดียว นั้นคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ให้นายอัครเดช ส.ส.จากรวมไทยสร้างชาติ ก็ได้อภิปรายต่อ โดยย้ำว่า การรับรองนี้ เป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน และกำลังทำผิดข้อบังคับฯ ข้อที่ 41
นายวิโรจน์ ลักขณาอิศร ลุกขึ้นประท้วงนายอัครเดช และประธานฯ ว่า ที่ใช้สิทธิประท้วงในการเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุ นายอัครเดชนั้นเป็นการอภิปราย ไม่ใช่การประท้วง จึงสามารถขึ้นอภิปรายได้ ซึ่งเมื่อวานได้มีการทำความเข้าใจกันใน 3 วิปแล้ว โดยตกลงกันว่า หากเสนอชื่อแล้ว หากเห็นว่า ผิดข้อบังคับฯ ขอให้เสนอเป็นญัตติขึ้นมา ทั้งผู้ที่เห็นว่าผิดข้อบังคับ และไม่ผิดข้อบังคับ โดยกำหนดกรอบเวลาไว้ 2 ชม. ให้ได้อภิปรายกัน
นายรังสิมันต์ ลุกขึ้นประท้วงอีกครั้ง โดยขอให้ประธานฯ ควบคุมการดำเนินการให้เรียบร้อย เมื่อวานนี้เป็นเพียงข้อตกลง ไม่ได้ข้อสรุป ในวาระการเสนอชื่อ เป็นการดำเนินการกระบวนการไปแล้ว ดังนั้นการยกมือของนายอัครเดช เป็นการประท้วง ซึ่งวาระการพิจารณาเลือกนายกฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ประท้วงนายรังสิมันต์ ระบุ ประธานฯ ดำเนินการถูกต้องแล้ว เสนอชื่อนายกฯ แล้ว รับรองแล้ว นายอัครเดช ก็เสนอชื่อคัดค้าน ก็ถูกต้องแล้ว ขอให้ประธานฯ เดินทางข้อตกลงเมื่อวานนี้ เพื่อดำเนินการต่อ พิจารณาข้อบังคับฯ ข้อ 41 ให้จบ
ซึ่งต่อมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานฯ ได้อธิบายถึงข้อตกลงทั้ง 3 วิปเมื่อวานที่ผ่านมา (18 ก.ค.) ว่า ทั้ง 3 วิปได้ข้อตกลงร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้มีกำหนดเวลา 2 ชั่วโมง มีการแบ่งกรอบเวลาฝ่ายละประมาณ 40 นาที เพื่อให้อภิปรายในเรื่องของข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 โดยสลับกันไป จนได้เวลาครบถ้วน
นายรังสิมันต์ ได้ลุกขึ้นประท้วงต่อว่า ในการประชุมไม่ได้มีข้อสรุป มีเพียงข้อเสนอในกรอบ 2 ชั่วโมง และพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้เห็นด้วยและตอบตกลง จึงขอให้เดินตามรัฐธรรมนูญ ม. 272 วรรคหนึ่ง และสิ่งที่นายอัครเดชยกมือขึ้นถือเป็นการประท้วง แต่นายอัครเดชไม่ได้ประท้วง เป็นเพียงการเสนอความเห็นเท่านั้น ถือเป็นเรื่องนอกวาระการประชุม
ในระหว่างการประท้วงกันไปมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ได้ลุกขึ้นประท้วงอีกครั้ง โดยระบุว่า ในญัตติการเสนอชื่อและพิจารณาเลือกนายกฯ ในครั้งนี้ เป็นญัตติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ใช่ญัตติทั่วไปที่เข้ารัฐสภา และรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่า ข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 พร้อมเสนอให้ตีความในเรื่องนี้
นายอัครเดช แย้งว่า ในข้อกำหนดต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่า ญัตติใดเป็นญัตติตามรัฐธรรมนูญ หรือ ญัตติรัฐสภา ดังนั้นไม่ว่าอย่างไร มันคือญัตติ ดังนั้นจึงควรเป็นไปตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 41
ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อ้างอิงว่า ในการตีความที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ผิดประเด็น การเสนอชื่อนายกฯ และพิจารณาเลือกนายกฯ นั้นเป็นกรอบตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งขอให้ผู้ที่มีความเห็นต่าง ๆ ได้ลงบันทึกในประเด็นที่แย้งนี้ไว้ได้วย เพื่อรับผิดชอบในอนาคต