คัดลอก URL แล้ว
พรุ่งนี้โหวตนายกฯ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

พรุ่งนี้โหวตนายกฯ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

วันนี้ (18 ก.ค. 66) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา นัดประชุมร่วม 3 ฝ่าย โดยมี ส.ส. ส.ว. และตัวแทนพรรคการเมืองร่วมประชุม เพื่อวางกรอบการประชุมร่วมรัฐสภาลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยก่อนเริ่มประชุมนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมหารือครั้งนี้ โดยขอให้วิป 3 ฝ่ายนำมติที่ประชุมไปแจ้งต่อ เพื่อให้การลงมติพรุ่งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ในการประชุมวิป 3 ฝ่ายวันนี้เป็นการหารือกรอบเวลาการอภิปราย การเรียงลำดับการอภิปราย รวมทั้งมีประเด็นที่ต้องจับตาคือการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ หลังส.ว.บางส่วนมองว่าเป็นการยื่นญัตติซ้ำ ขัดกับข้อบังคับการประชุม ข้อ 41 ที่ห้ามนำญัตติที่ตกไปแล้วมาเสนอใหม่ในสมัยประชุมเดียวกัน แต่ ส.ส.มองว่าการเลือกนายกฯ แตกต่างจากญัตติทั่วไป ไม่มีการกำหนดจำนวนครั้ง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ในวันพรุ่งนี้

  1. มีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และต้องมีผู้รับรอง ซึ่งทางส.ว. ก็จะหยิบยกเรื่องข้อบังคับข้อ 41 ขึ้นมาหารือในที่ประชุมสภา ทำให้จะต้องมีการโหวตเรื่องข้อบังคับ41 ว่าสามารถบังคับใช้ในกรณีโหวนายกได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะออกได้ 2 ทาง คือ หากที่ประชุมมองว่าการเลือกนายกฯ แตกต่างจากญัตติทั่วไป ไม่มีการกำหนดจำนวนครั้ง ก็แปลว่า สามารถเสนอชื่อนายพิธาได้อีกครั้ง แต่ถ้าหากว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อบังคับ 41 ก็ทำให้ต้องมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีพรรคการเมืองใดเสนอชื่อแข่งในครั้งนี้หรือไม่
  1. หากมีการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพียงคนเดียว นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีการอภิปรายเยอะเหมือนครั้งก่อน จากนั้นจะเข้าสู่การขานชื่อโหวตนายก ซึ่งต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง 375 เสียงขึ้นไป และหากคะแนนโหวตครั้งนี้ไม่ผ่านนั้น นายชัยธวัช ระบุว่า หากโหวตไปแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และหากวาระที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ได้ถูกบรรจุได้ทันก่อนโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ก็คงต้องเปิดโอกาส ให้ประเทศนั้นเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยการเสนอแคนดิเดทนากยรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

    ส่วนคะแนนเสียงจะต้องได้เท่าไหร่ นายชัยธวัชระบุว่า คงไม่ต้องกะเกณฑ์ชัดเจน ส่วนตัวมองว่า หากเห็นตัวเลข ก็คงประเมินได้ เช่น หากได้เสียง 240 เสียง หรือ 250 เสียง หากขยับขึ้นมาเท่านี้ เชื่อว่า ประชาชนคงมีความหวัง
  1. ขณะที่ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย วันนี้ (18 ก.ค. 66) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ระบุว่า การหารือวันนี้มีความเห็นไปสองฝ่ายในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ฝ่ายที่ 1 นำกฎหมายมาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้นำข้อเท็จจริง และเหตุผลอื่นว่า จะโหวตได้ หรือไม่ได้ ซึ่งฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ไม่เห็นชอบข้อบังคับที่ 41ว่าญัตติใดที่ตกไปแล้วห้ามนำมาเสนอซ้ำ เว้นแต่ประธานสภาอนุญาต และอีกฝั่งหนึ่งก็เห็นว่า เป็นการนำเสนอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นข้อถกเถียงดังกล่าว จึงขึ้นอยู่กับประธานสภาว่า หากมีการเสนอจะมีการลงมติอย่างไร ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบก็เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อได้ และโหวตต่อได้ แต่ถ้าหากที่ประชุมไม่เห็นชอบ การโหวต ชื่อนายพิธาก็จะถูกตีตกไป

    เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากญัตติของนายพิธา ถูกตีตก พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อซ้อนเลยหรือไม่ นายแพทย์ชลน่าน ระบุว่า ต้องแยกกัน เพราะมติ 8 พรรคร่วมออกมาแล้วว่า จะเสนอชื่อนายพิธา ซึ่ง 8 พรรคร่วมจะต้องมีการนัดประชุมใหม่อีกครั้ง

    ส่วนกรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ชลน่าน ระบุว่า เป็นเพียง ความเห็นของนางสาวแพทองธาร ซึ่งเรื่องดังกล่าว ยังต้องนำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคอีกครั้ง

    อย่างไรก็ตาม การโหวตเลือกนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ต้องจับตาศาลรัฐธรรมนูญ หากมีมติรับคำร้องและมีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องออกจากห้องประชุมทันที และต้องตีความว่า การหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ยังจะสามารถโหวตนายกฯได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง