คัดลอก URL แล้ว
สื่อนอกชี้ ตั้งรัฐบาลช้าเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

สื่อนอกชี้ ตั้งรัฐบาลช้าเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

สื่อนอกเกาะติดผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมวิเคราะห์ว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ

“สำนักข่าวบลูมเบิร์ก” รายงานผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไทย ที่นายพิธา ได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ และจะต้องมีการโหวตเลือกกันอีกในวันที่ 19 ก.ค.นี้ โดยบลูมเบิร์ก ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลเสียต่อการกำหนดนโยบายของไทย ในแง่ของการขยายตัวของเศรษฐกิจ และหากเกิดการชุมนุมของผู้สนับสนุนฝ่ายนายพิธา ก็จะเป็นปัญหาต่อการท่องเที่ยว

ด้าน “สำนักข่าวอัลจาซีรา” รายงานว่า นายพิธาแพ้โหวตเลือกนายกฯ เพราะไม่ได้การสนับสนุนจาก ส.ว.ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ซึ่งพิธาก็ยังไม่ยอมแพ้ และพรรคก้าวไกลจะปรับกลยุทธ์เพื่อเอาชนะในการโหวตนายกฯ  โดยคาดว่า จะมีการโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งในวันพุธหรือพฤหัสหน้า ซึ่งตอนนี้ยังมองว่า จะมีการเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้ง หากไม่ถูกวินิจฉัยว่าหมดคุณสมบัติไปเสียก่อน

ส่วนสำนักข่าว “ซีเอ็นเอ็น” ระบุว่า นี่คือช่วงเวลาวิกฤตของประชาธิปไตยไทย เมื่อรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ คนใหม่ได้สำเร็จ

เช่นเดียวกับสำนักข่าว “รอยเตอร์ส” ที่รายงานว่า ความพยายามครั้งแรกของนายพิธาล้มเหลว เพราะไม่สามารถได้เสียงสนับสนุนมากพอจากรัฐสภาให้นั่งเก้าอี้นายกฯ และคาดว่า จะโหวตอีกในสัปดาห์หน้า และจะมีการเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้ง

ขณะที่พาดหัวข่าวของ “นิคเคอิ เอเชีย” ของญี่ปุ่น ระบุว่า นายพิธาล้มเหลวในการคว้าเสียงข้างมากในการโหวตเลือกนายกฯ แต่ผู้นำพรรคก้าวไกลก็ไม่ยอมแพ้ในการโหวตในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักวิเคราะห์และกลุ่มการค้าต่างๆ เตือนเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจหากการอนุมัติงบประมาณภาครัฐล่าช้าออกไป

นอกจากนี้ มีทวีตข้อความของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา หลังจากนายพิธาได้เสียงสนับสนุนไม่มากพอ จะเป็นนายกรัฐมนตรีไทย ระบุว่า เป็นความล้มเหลวครั้งสำคัญของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาด้วย เหตุเพราะฝ่ายค้านกัมพูชาคาดหวังมาตลอดว่า ถ้านายพิธาได้เป็นนายกฯ ของไทย  ฝ่ายค้านกัมพูชาก็จะใช้ดินแดนไทยเพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา แต่ตอนนี้ความหวังดังกล่าวได้มลายหายไปไม่ต่างจากเกลือในน้ำ  จึงอยากฝากข้อความและความปรารถนาดีไปถึงกลุ่มหัวรุนแรงในกัมพูชาว่า อย่าเล่นการเมืองโดยพึ่งพาคนอื่น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง