จากกรณีที่ประชุม กกต.วันนี้ มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3 ) ประกอบมาตรา 101 ( 6 ) หรือไม่? จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
ขณะเดียวกันมีรายงานว่าในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการนัดประชุมประจำสัปดาห์วันนี้ในช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวหรือไม่
จับตา “ศาลรัฐธรรมนูญ” เห็นพ้อง กกต.หรือไม่?
ด้าน รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยถึงกรณี นี้ ระบุว่า สถานการณ์นี้ ต้องจับตาดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีกระบวนการในการพิจารณาอย่างไร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้องกับ กกต. ก็คือสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ และวันพรุ่งนี้จะมีเกมการเมืองเกิดขึ้นในสภา เพราะก็จะมีกระบวนการในการที่จะเรียกร้องถึงประเด็นว่า “คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ” ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และก็จะมีกระบวนการในการโหวตนายกรัฐมนตรีต่อไปอย่างไร
อย่างไรก็ตาม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังมีสิทธิ์ ที่จะได้รับการเสนอชื่อ เพราะว่าสิ่งที่ กกต. ร้อง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ( 3 ) ประกอบมาตรา 101 ( 6 )ไม่ใช่มาตรา 160
ดังนั้นในฐานะแคนดิเดตนายก นายพิธา ก็ยังมีสิทธิ์ ได้รับการเสนอชื่ออยู่ แม้ว่าศาลจะสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ซึ่งก็ต้องไปดูว่าศาลจะสั่งหยุด ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หรือไม่
โอกาส “พิธา” จะได้เป็นนายกฯ มีน้อยมาก
สำหรับโอกาสในการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี มีมากน้อยแค่ไหน อ.ยุทธพร ระบุว่า โอกาสจะได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” มีไม่มากนัก เนื่องจากเป็นคดีการถือครองหุ้นสื่อ แน่นอนจะมีการถูกหยิบยก ในเรื่องของคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ขึ้นมาเป็นประเด็นในการอภิปราย ของทั้ง ส.ส. และ ส.ว.
รวมไปถึงเป็นเหตุอ้าง เช่น อาจจะสั่งให้มีการเลื่อนการลงมติไปก่อน โดยกระบวนการในการที่จะมีการเสนอชื่อ จาก ส.ว. ก็ดี หรือ ส.ส.อีกขั้วอำนาจหนึ่งก็ดี ดังนั้นตรงนี้มันก็มีโอกาสที่จะถูกเลื่อนก็เป็นไปได้ หรือไม่ ก็อาจจะมีการ ลงมติ ในลักษณะที่อาจไม่ให้ นายพิธา “ผ่าน” จะเป็นเรื่องการไม่รับ หรือ จะเป็นเรื่องของการงดออกเสียง หรือ อาจจะเป็นอีกทางหนึ่ง ก็คือว่า อาจจะมีกระบวนการในการที่จะเสนอชื่อแต่หากบุคคลใดเป็นผู้เทียบ นายพิธา ขึ้นมาเลยก็ได้
หลังจากนี้ จะได้เห็น “ม็อบ” แน่นอน
อ.ยุทธพร อิสรชัย กล่าวเพิ่มเติมระบุว่า อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญหรือ กกต. จะวินิจฉัยวันนี้ หรือไม่ ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) นั้น ก็มีการนัดหมายม็อบจากกลุ่มผู้ที่สนับสนุน นายพิธา ไปที่หน้ารัฐสภา
“โอกาสที่เราจะได้เห็นม็อบ ผมคิดว่าก็เป็นสิ่งที่มันเป็นไปได้อยู่แล้ว ถือว่าม็อบอาจจะขยายตัวมากขึ้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาและก็สั่งปฏิบัติหน้าที่ของนายพิธา” อ.ยุทธพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกคำสั่ง อาศัยอำนาจตามมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2566 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 15 ก.ค.2566 เวลา 24.00 น.
‘ก้าวไกล’ ขู่ กกต.ผิดมาตรา 157
ขณะที่ พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ ระบุ การที่ กกต. จะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่า เห็นว่ามีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าเป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้
กรณีจึงเท่ากับว่า กกต. ปฏิบัติตามระเบียบแต่เพียงบางส่วน และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนได้ตราขึ้น อันอาจเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้