คัดลอก URL แล้ว
ย้อนที่มาโครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง

ย้อนที่มาโครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง


เหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ นับเป็นอีกครั้งที่ต้องตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยโครงการก่อสร้างโครงการต่างๆ อย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังนี้ จริงๆ มีการตั้งคำถามเยอะมาก มีทั้งการตั้งกระทู้ถามในสภา กทม. มีการโพสต์ถามของอดีตอธิการบดี สจล. แต่เหตุร้ายก็ยังเกิดขึ้น


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ ในฐานะที่ก็เคยเป็นวิศวกร ได้คาดการณ์เบื้องต้นถึงสาเหตุของการถล่ม จนมีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันตอนนี้ 2 คน บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 13 คน

สะพานยกระดับแห่งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะแก้ไขปัญหาจราจร และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่เขตลาดกระบัง แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ เพราะคงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 วันในการเคลื่อนย้ายเศษซากความเสียหาย และเปิดทางสัญจรได้

แต่การก่อสร้างโครงการนี้ สร้างปัญหาจราจรมาตลอดการก่อสร้าง จากความล่าช้า และมาตรฐานความปลอดภัยที่ดูแล้วมีคำถามมาตลอด


อย่างกรณีที่ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย เคยยื่นกระทู้ถามในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.66 บอกว่าโครงการก่อสร้างนี้ ไม่มีความคืบหน้า ผลงานสะสมเท่าเดิม แล้วจะเสร็จตามสัญญาที่ขยายเวลาก่อสร้างออกไปไหม นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เขต และผู้อำนวยการเขตต่างก็ไม่ทราบข้อมูล หรือเป็นที่ปรึกษาในโครงการ พบมีวัสดุอุปกรณ์กีดขวางทางจราจร ทำให้การจราจรติดขัด สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

คุณสุรจิตต์ บอกว่า เข้าใจว่าโครงการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติ แต่ก็ต้องสอบถามว่า ทาง กทม.ว่าจะดำเนินการเร่งรัดให้เร็วขึ้นอย่างไร

ตอนนั้น นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ทาง กทม.ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างทางยกระดับ จากแบบเดิมที่เป็นการก่อสร้าง girder box segment ซึ่งติดตั้งแบบหล่อคอนกรีตและเทในที่ ให้เป็น precast box segment โดยหล่อจากโรงงาน และขนย้ายมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และจะแจ้งให้ผู้รับจ้างเพิ่มแรงงาน วัสดุ และเครื่องจักรเพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เร็วขึ้นและลดผลกระทบในระหว่างการก่อสร้าง


ไม่ใช่แค่ ส.ก.ลาดกระบัง เพราะคนที่เคยเป็นอดีตอธิการบดีสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบ้านก็อยู่ในพื้นที่นั้นอย่าง ดร.เอ้ ศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ,อดีตนายกสภาวิศวกร , อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ก็ได้แชร์เฟซบุ๊ก โพสต์ที่เคยเขียนเตือนเรื่องความปลอดภัยการก่อสร้างสะพานดังกล่าวอย่างน้อยๆ 2 ครั้ง และบอกว่ายิ่งย้อนดู ยิ่งเสียใจที่เคยพยายามเตือนหลายครั้ง

โพสต์หนึ่งเขียนไว้เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2565 ตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัย ที่มีการตั้งนั่งร้านทำงาน เทปูน หล่อเสาตอม่อชิดริมถนน กลัวจะพังลงมา เพราะการก่อสร้างโครงสร้างสะพาน มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขณะทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนั่งร้านคนงานพัง, ไม้แบบรองรัยการเทคอนกรีตเสาและคานพัง, คานหล่น หรือเครนล้ม

กับอีกโพสต์ เขียนวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ห่วงใยโครงการก่อสร้างนี้ เพราะเห็นปัญหาชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรที่ทำงานแบบไม่มีแนวป้องกัน ถนนยุบจากการก่อสร้าง และรถติดมหาศาล


แต่ท้ายที่สุดก็เกิดเหตุสลดขึ้นจนได้ ซึ่งเบื้องต้น ณ ขณะนี้ คือการเร่งเคลียร์ซากความเสียหาย หาสาเหตุที่ชัดเจน และที่สำคัญ ต้องหาผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สำหรับโครงการนี้มีสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของ ออกแบบโดยสำนักงานวิศวกรรมทาง งบประมาณก่อสร้างกว่า 1,600 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางยกระดับคอนกรีตเสริมเหล็ก บนถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 3,500 เมตร ก่อสร้างปรับปรุงสะพาน ข้ามคลองหนองปรือ 1 แห่ง ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบจราจรสงเคราะห์และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

งบประมาณก่อสร้างสูงขนาดนี้ แน่นอนว่าผู้รับเหมาต้องไม่ใช่บริษัทเล็กที่ไม่มีประสบการณ์ในการรับสัญญาทางการ โดยผู้รับเหมาคือ กิจการร่วมค้า ธาราวัญ – นภา เป็นผู้รับเหมาดำเนินโครงการ ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 900 วัน เริ่มโครงการตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาคือ 11 สิงหาคม 2566 แต่ต่อสัญญาออกไป เพราะความล่าช้าในการก่อสร้างช่วงโควิด จริงคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567


ข่าวที่เกี่ยวข้อง