คัดลอก URL แล้ว
[สรุปข้อสงสัย] ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงมหาสมุทร

[สรุปข้อสงสัย] ญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงมหาสมุทร

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ถูกสึนามิพัดถล่มเสียหายเมื่อปี 2011 จนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติ มีกัมมันตภาพรังสีรั่วไปออกมา จนทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนในพื้นที่ออกมานอกบริเวณที่ได้รับผลกระทบ

ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากญี่ปุ่นได้ดำเนินการตามแผนในการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งมีปริมาณกว่า 1 ล้านตันลงสู่มหาสมุทร โดยทางการญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำเสียดังกล่าวได้รับการบำบัด และอยู่ในระดับมาตรฐานที่สามารถปล่อยลงสู่ทะเลได้แล้ว ท่ามกลางเสียงคัดค้านของหลายฝ่าย

น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเหล่านี้มาจากไหน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2011 เตาปฏิการนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับความเสียหายจำนวน 3 เครื่อง จากความร้อนที่สูงและทำให้เตาหลอมละลายปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีออกสูภายนอก ซึ่งในเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้มีน้ำเสียที่ปนเปื้อนจำนวนมาก

น้ำเสียที่เกิดขึ้นนี้ เป็นน้ำที่ถูกนำมาใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งน้ำบาดาล และน้ำทะเล โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้มีการสร้าง “แท็งค์กักเก็บ” น้ำเสียที่ปนเปื้อนเหล่านี้ไว้ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นได้มีการเก็บน้ำเสียที่ปนเปื้อนเหล่านี้ไว้มากกว่า 1,000 แท็งค์

น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมีการจัดการอย่างไร

น้ำเสียที่ถูกใช้หล่อเย็นเหล่านี้ มีปริมาณมากขึ้นตามลำดับ และคาดการณ์กันว่า จะมากถึงกว่า 1 ล้านลิตร ซึ่งปัญหาที่ตามมานั่นคือ “พื้นที่การจัดเก็บ” ที่มีจำกัด และกำลังจะไม่เพียงพอ ในขณะเดียวกันพื้นที่ต่าง ๆ ในบริเวณโรงไฟฟ้า ก็ถูกใช้เพื่อสร้างแท็งค์สำหรับกักเก็บน้ำเสียเหล่านี้จนเกือบเต็มพื้นที่หมดแล้ว และไม่สามารถจะสร้างเพิ่มได้อีก

ในขณะเดียวกัน น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีเหล่านี้ ก็มีแผนในการบำบัดด้วยการกรอง โดยใช้สารเคมีเพื่อกำจัดสารกัมมันตภาพรังเสียออกไป โดยมีการกรอง และบำบัดซ้ำไปมา เพื่อทำให้น้ำมีความบริสุทธิ์มากที่สุด

กำจัดกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนได้หมดไหม?

ในการกรองด้วยสารเคมีสำหรับในการบำบัดน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีนั้น มีการกรองซ้ำ และพักเก็บไว้ แต่ความกังวลที่เกิดขึ้น เนื่องจากคงมีทริเทียม (Tritium) ปะปนอยู่ ซึ่งทริเทียมนี้ หากได้รับในปริมาณมาก ก็จะยังส่งสามารถสะสมอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้หากได้รับในปริมาณมาก

อย่างไรก็ตาม ทางด้านของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ได้มีการประเมินคุณภาพของน้ำเสียที่ผ่านการกรองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และในการประเมินครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 การปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสีนั้นอยู่ในระดับที่ “ต่ำกว่า” ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ หรือมีปริมาณการปนเปื้อนน้อยกว่าที่กำหนด และส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

ซึ่งไอโซโทปของทริเทียมในน้ำเสียนั้นจะมีครึ่งชีวิตอยู่ที่ราว 7 – 14 วันเท่านั้น หากมนุษย์ได้รับสารปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไป ก็จะสลายตัวไปได้ และปริมาณที่ปนเปื้อนเหล่านี้ ก็เป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่น ๆ ทั่วโลกที่มีการปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม

คนญี่ปุ่นและหลายชาติกังวลอะไร?

ชาวญี่ปุ่นออกมาเดินขบวนประท้วงแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อน เมื่อเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
(แฟ้มภาพ – ซินหัว)

แม้ว่า ทาง IAEA จะระบุว่า ปริมาณการปนเปื้อนของน้ำเสียเหล่านี้ จะอยู่ในเกณฑ์ที่มีปริมาณการปนเปื้อนที่น้อยมากก็ตาม แต่ด้วยปริมาณของน้ำเสียที่ปนเปื้อนเหล่านี้มีปริมาณมากถึง 1 ล้านตัน ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่กังวลต่อการปนเปื้อนที่จะเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอาหารทะเล

ซึ่งชาวประมงในชินจิมาจิ ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งนี้ ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนเหล่านี้ลงมหาสมุทร จำนวนไม่น้อยมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะทำให้ประมงชายฝั่งของชาวประมงที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า จะล่มสลาย ซึ่งที่ผ่านมาได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรวบรวมรายชื่อและยื่นคัดค้านแผนการปล่อยน้ำเสีย แต่ก็ไม่เป็นผล

เสียงสะท้อนจากชาติอื่น ๆ

สำหรับในการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดลงสู่มหาสมุทร ทำให้หลายชาติมีความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และที่ผ่านมา ก็ได้มีการเรียกร้องให้ IAEA เข้ามาตรวจสอบเพื่อรับรองคุณภาพของน้ำเสียภายหลังจากที่ได้มีการบำบัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ชาวเกาหลีใต้ ออกมาเดินขบวนประท้วงการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนของญี่ปุ่น เมื่อ 8 ก.ค. 2566
(แฟ้มภาพ – ซินหัว)

เกาหลีใต้

ทางด้านของเกาหลีใต้ แม้ว่าในช่วงก่อนหน้านี้จะแสดงท่าทีกังวลต่อแผนการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนนี้ลงสู่ทะเล แต่จากรายงานล่าสุดของ IAEA ทำให้รัฐบาลของเกาหลีใต้ออกมาแสดงยอมรับในแผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่น โดยได้มีการลงนามเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ( 7 ก.ค. ) เนื่องจากทางการเกาหลีใต้ประเมินว่า ปริมาณทริเทียมที่ปนอยู่ในน้ำนั้นมีสัดส่วนน้อยกว่า 1/100,00 ซึ่งถือว่าน้อยมาก

สำหรับผลการสำรวจความเห็นของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ ก็ยังคงแสดงความกังวลถึงการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ลงนามรับแผนของญี่ปุ่น เพราะท้ายที่สุดแล้วมันก็มีส่วนผสมของสารกัมมันตภาพรังสีที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อความปลอดภัยทางอาหารได้ในอนาคต

เกาหลีเหนือ

ทางด้านของเกาหลีเหนือได้ออกมาเรียกร้องให้ ประชาคมโลกหันมาสนใจและกดดันให้ญี่ปุ่นยกเลิกแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนดังกล่าวลงสู่มหาสมุทร โดยเกาหลีเหนือได้ออกแถลงการประณามอย่างรุนแรงต่อการระทำของญี่ปุ่น โดยระบุว่า เป็นการกระทำที่ชั่วร้ายและไร้มนุษยธรรม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นถือเป็นการทำลายโลกอย่างมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเกาหลีใต้ จีน รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมด

จีน

จีนได้แสดงท่าทีเป็นกังวลต่อแผนการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนของญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้มีการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจำนวกอาหารจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น โดยอ้างถึงเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะเน้นในส่วนของอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด

และยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงความชอบธรรมของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนดังกล่าวลงในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย ซึ่งญี่ปุ่นก็ได้ตอบโต้ในประเด็นนี้ว่า การปล่อยน้ำเสียที่มีทริเทียมปนเปื้อนอยู่ในครั้งนี้ ก็ยังต่ำกว่า น้ำเสียที่ปนเปื้อนทริเทียมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของทั้งจีนและเกาหลีใต้

TOKYO, June 23, 2023 (Xinhua) — This photo taken on March 6, 2023 shows the Fukushima Daiichi nuclear power plant seen from Futabacho, Futabagun, Fukushima Prefecture, Japan.
(Xinhua/Zhang Xiaoyu)

สหรัฐฯ

ในขณะที่สหรัฐฯ ได้แถลงถึงแผนการปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นในครั้งนี้ โดยอ้างถึงรายงานของ IAEA ที่ระบุว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐาฯ มีปริมาณของทริเทียมที่ปนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ และคาดหวังว่า ตลอดกระบวนการการปล่อยน้ำเสียเหล่า่นี้ จะได้รับความร่วมมือจากทางการญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

กลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

ในการประชุมของการประชุมของประเทศในกลุ่มหมู่เกาะแปซิฟิก หรือ PIF ได้แสดงความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งประเทศที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นต้องพึ่งพาแหล่งอาหารส่วนใหญ่จากทะเล ดังนั้น หากมีการปนเปื้อนใด ๆ เกิดขึ้น นั่นจะส่งผลกระทบต่อประเทศเล็ก ๆ เหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

และประเทศเล็ก ๆ เหล่านี้ ไม่ได้รับข้อมูลจากญี่ปุ่น ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้แต่อย่างใด จึงอยากให้ญี่ปุ่นระงับการดำเนินการเหล่านี้ออกไปก่อน และมาร่วมการพูดคุยกับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกให้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้

ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ทั้ง IAEA และรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันในข้อมูลเดียวกันคือ คุณภาพของน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วจะมีเพียงทริเทียมในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ที่จะถูกปล่อยออกมา และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมนั้นมีน้อยมาก และครึ่งชีวิตของทริเทียมเหล่านี้ ก็จะมีระยะเวลาไม่นานและจะสลายไปเอง

ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยยังคงมองว่า ทริเทียมยังคงมีโอกาสที่จะตกค้างอยู่ในสิ่งมีชีวิตและอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งในข้อมูลเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินอย่างชัดเจน

โดยบางส่วนระบุว่า เคยเสนอให้ทางการญี่ปุ่น รวมถึงบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ เจ้าของโรงงานไฟฟ้า ทำการทดลองนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว มาใช้ทดสอบการปนเปื้อนด้วยการนำไปใช้ในการเลี้ยงปลา และตรวจวัดปริมาณสารตกค้างที่อยู่ในปลาเหล่านั้น

แต่ข้อเสนอนี้ ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด จึงไม่มีการทดลองและยืนยันสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งทางการญี่ปุ่น และผู้เกี่ยวข้องอ้างถึงเกณฑ์มาตรฐานของปริมาณทริเทียมที่ปนเปื้อนในน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีการปล่อยลงสู่ทะเลที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ และยืนยันว่า น้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้น มีปริมาณการปนเปื้อนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเสียอีก ดังนั้นจึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง