แผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร จุดเหนือศูนย์เกิดอยู่ บริเวณ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 00.17 น. ของวันที่ 29 มิ.ย.66 เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด ที่สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพิจิตรประมาณ 15 กิโลเมตร
โดยทางกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และจังหวัดเลย สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป
เบื้องต้นมีรายงานความเสียหาย พบ ผนังบ้านและโบสถ์ในพื้นที่บ้านราชช้างขวัญ หมู่ที่ 1 ต.ปากทาง อ.เมือง จ.พิจิตร เกิดรอยร้าวเล็กน้อย ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวอยู่ ในความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 4 – 5 (เบา-ปานกลาง) ตามมาตราเมอร์คัลลี ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ คนที่นอนหลับตกใจตื่น หน้าต่างประตูสั่น ผนังห้องมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหว ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้าง
จากประวัติการเกิดเหตุแผ่นดินไหวใน จ.พิษณุโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2566 ขนาด 4-4.9 จำนวน 1 ครั้ง และขนาดเล็กกว่า 3 จำนวน 5 ครั้ง
แผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง
ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (Hidden Fault)
ซี่งกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้หากลไกการเกิดแผ่นดินไหว พบว่าแผ่นดินไหวเกิดจาก แนวรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ในประเทศไทย
1.รอยเลื่อนแม่จัน
- วางตัวในแนวทิศเกือบตะวันตก-ตะวันออก พาดผ่าน จ. เชียงรายและเชียงใหม่ มีบ่อนํ้าพุร้อนตามแนวรอยเลื่อน เชื่อมต่อกับแนวรอยเลื่อนนํ้ามาในลาว มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร (เฉพาะในประเทศไทย) เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่ทำให้โยนกนครยุบตัวลงกลายเป็นหนองนํ้า รอยเลื่อนแม่จันส่วนที่อยู่ในประเทศลาวเคยเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 ทำให้เสาและผนังอาคารหลายหลังในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหาย และรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร
2.รอยเลื่อนแม่ลาว
- เป็นรอยเลื่อนที่ถูกจำแนกขึ้นใหม่ ไม่ปรากฎในแผนที่รอยเลื่อนเมื่อปี 2549 ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างรอยเลื่อนแม่จันกับรอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน อ.แม่สรวย อ. แม่ลาว และ อ. เมืองเชียงราย มีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ล่าสุดผลจากการเลื่อนตัวของลอยเลื่อนแม่ลาวทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบ 50 ปี คือแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 สร้างความเสียหายอย่างมากต่อบ้านเรือนและทรัพย์สิน
3.รอยเลื่อนแม่อิง
- เริ่มตั้งแต่ อ. เทิง อ. ขุนตาล อ. เชียงของ อ. เวียงแก่น จ.เชียงราย ยาวต่อเนื่องเข้าไปในลาว มีความยาวประมาณ 70 กิโลเมตร เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน ขนาด 6.7 ริกเตอร์มาแล้ว จึงควรออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ต้านทานแรงแผ่นดินไหวมากกว่า 7.0 ริกเตอร์
4.รอยเลื่อนปัว
- วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ พาดผ่าน จ. น่าน ความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร เชื่อว่าการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2478 หรือเกือบร้อยปีก่อน บริเวณรอยต่อของประเทศไทยกับลาว เป็นอิทธิพลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนปัว
5.รอยเลื่อนพะเยา
- พาดผ่าน จ. ลำปาง เชียงราย และพะเยา มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 ทำให้ตึกอำนวยการและทางเดินอาคารโรงพยาบาลพาน อ. พาน จ. เชียงราย ได้รับความเสียหาย การคมนาคมทางอากาศที่สนามบินเชียงรายหยุดชะงัก
6.รอยเลื่อนแม่ทา
- พาดผ่าน จ. เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ระยะทาง 140 กิโลเมตร รอยเลื่อนวางตัวโค้งตามแนวร่องแม่นํ้าวองและแม่นํ้าแม่ทา มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริกเตอร์บ่อยครั้ง เช่นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.8 ริกเตอร์
7.รอยเลื่อนเวียงแหง
- วางตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ พาดผ่านตั้งแต่ อ. เวียงแหง ถึง อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่ มีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร พบหลักฐานแผ่นดินไหวโบราณขนาด 6.8 ริกเตอร์ เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว รอยเลื่อนเวียงแหงมีอัตราการเลื่อนตัว 0.01-0.11 มิลลิเมตร/ปี
8.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
- วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ พาดผ่าน อ. เมืองแม่ฮ่องสอน อ. ขุนยวม อ. แม่ลาน้อย อ. แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน ต่อเนื่องลงมาถึง อ. ท่าสองยาง จ. ตาก ความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร ประกอบด้วยรอยเลื่อนย่อย ได้แก่ รอยเลื่อนบ้านนํ้าเพียงดิน รอยเลื่อนขุนยวม รอยเลื่อนแม่สะเรียง จากการประเมินขนาดแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตโดยใช้ค่าความยาวของรอยแตกที่ปรากฏบนผิวดิน คาดว่าขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่ทำให้เกิดได้คือ 7.1 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริกเตอร์ มีศูนย์เกิดในตอนเหนือของรอยเลื่อนในพื้นที่ประเทศพม่า
9.รอยเลื่อนเมย
- เริ่มปรากฎในเขตประเทศพม่ายาวต่อเนื่องเข้ามาในประเทศไทย นับตั้งแต่ต้นจากลำนํ้าเมยที่ชายแดน พาดผ่าน จ. ตากและกำแพงเพชร ระยะทาง ๒๖0 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวอย่างน้อย 2 ครั้ง คือวันที่ 23 กันยายน 2476 ที่ อ. แม่สอด จ. ตาก และ 17 กุมภาพันธ์ 2518 ที่ อ. ท่าสองยาง จ. ตาก ครั้งหลังมีขนาด 5.6 ริกเตอร์ รู้สึกได้หลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร
10.รอยเลื่อนเถิน
- พาดผ่าน จ. ลำปางและแพร่ ระยะทางรวมกันประมาณ 180 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 และ 3.7 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 22, 23 ธันวาคม ๒๕๒๓ และมีรายงานแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริกเตอร์บ่อยครั้ง พบหลักฐานการเคลื่อนตัวตามแนวระนาบจากการหักงอของทางน้ำหลายสาย
11.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์
- พาดผ่าน จ. อุตรดิตถ์ ระยะทาง 130 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องแม่นํ้าน่าน เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนเดียนเบียนฟูในลาวซึ่งแตกแขนงมาจากรอยเลื่อนแม่นํ้าแดงในเวียดนาม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 บริเวณรอยเลื่อนเดียนเบียนฟูเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.4 ริกเตอร์ ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และทำให้วิหารวัดพระธาตุแช่แห้ง อ. ภูเพียง จ. น่าน ได้รับความเสียหาย
12.รอยเลื่อนเพชรบูรณ์
- วางตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ พาดผ่าน อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก และ อ.เมืองเพชรบูรณ์ มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร ที่บ่อลูกรังบริเวณบ้านชำบอน อ.หล่มเก่า พบชั้นกรวดชั้นทรายถูกรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ตัดขาดออกจากกันประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นหลักฐานของเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อประมาณ 30,000 ปีที่แล้ว
13.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
- วางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นจากประเทศพม่า พาดผ่าน จ. กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ระยะทาง 220 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องแม่นํ้าแม่กลองและแควใหญ่ เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายร้อยครั้ง และเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดที่มีการบันทึกสถิติและมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวในประเทศไทยขนาด 5.9 ริกเตอร์ วันที่ 22 เมษายน 2526 โดยศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพมหานคร ควรออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ต้านแรงแผ่นดินไหวมากกว่า 7.0 ริกเตอร์
14.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
- เริ่มปรากฎในประเทศพม่า เข้าสู่ตะเข็บชายแดนประเทศไทยบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ อ.ศรีสวัสดิ์ จ. กาญจนบุรี ระยะทาง 200 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องแม่นํ้าแควน้อย เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า มีรายงานแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนนี้หลายพันครั้ง ควรออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ต้านแรงแผ่นดินไหวมากกว่า 7.5 ริกเตอร์
15.รอยเลื่อนระนอง
- เริ่มตั้งแต่ในทะเลอันดามัน พาดผ่าน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา ระยะทางเฉพาะส่วนที่ปรากฎบนแผ่นดินประมาณ 300 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องนํ้าของแม่นํ้ากระบุรี อยู่ใกล้เคียงกับรอยเลื่อนตะนาวศรีในพม่า มีรายงานแผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2521
16.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
- เริ่มตั้งแต่ในทะเลอันดามัน บริเวณด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ต เข้าไปในอ่าวพังงา วางตัวตามแนวคลองมะรุ่ย คลองชะอน คลองพุมดวงใน จ. กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ระยะทางเฉพาะบนแผ่นดิน 150 กิโลเมตร มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2476 ที่พังงา และนอกชายฝั่งภูเก็ตเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2519 และ 29 สิงหาคม 2542
ข้อมูล :
- กรมทรัพยากรธรณี
- กรมอุตุนิยมวิทยา