จากกรณีเกิดเหตุสลดขึ้น กลางโรงเรียนราชวินิต มัธยม เมื่อถังดับเพลิงระเบิดระหว่างซักซ้อมเหตุไฟไหม้ ทำให้นักเรียนชาย ชั้น ม.6 เสียชีวิตทันที 1 ราย และ บาดเจ็บอีก 10 คน
ล่าสุด พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่า ขณะเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เข้ามาสาธิตการดับเพลิงให้กับนักเรียนและครู ระหว่างนั้นถังดับเพลิงสีแดง หรือถัง CO2 ที่อยู่หลังครูฝึก ที่เตรียมไว้ใช้ในการสาธิต เกิดระเบิดขึ้น
หลังเกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) เข้าเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุทั้งหมดแล้ว และ แยกตัวครูฝึก 7 คน ไปสอบปากคำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เตรียมแจ้งข้อกล่าวหา กับครูฝึก ในเบื้องต้น 3 คน
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักบรรเทาสาธารณภัยกทม. เปิดเผยว่า ถังดับเพลิงมี 2 ชนิด ชนิดแรกใช้สารเคมี ถังสีแดง เวลาประกอบถังมีการประกบ 2 ฝั่งแล้วอ๊อกเหล็กเชื่อม บรรจุสารเคมี ใส่สลักปิดเกลียว เวลาใช้บีบก้าน ในถังดับเพลิงแบบเคมี อัดความดันเข้าไป 180 ปอนด์ต่อตารางเมตร ถ้ามีปฏิกริยาเกิดจากแรงดันภายในถังจะแยกเป็น 2 ส่วนตามรอยเชื่อม สารแบบนี้ไม่ค่อยนิยมใช้เพราะมีสิ่งแวดล้อม
จึงนิยมมาใช้ถัง CO2 อัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อทำลายอ๊อกซิเจน ซึ่งถังนี้อัดความดันสูง 800 ปอนด์ต่อตารางเมตร ทำให้ลักษณะถังต้องหล่อพิเศษถังชิ้น ไม่มีรอยต่อเชื่อม และมีความหนาและแข็งแรงสูง โอกาสที่จะระเบิดแทบไม่มี แต่ถังลักษณะนี้มีข้อต่อวาล์เหมือนถังดับเพลิงสารเคมี ซึ่งนิยมใช้ข้อต่อเป็นทองเหลือง เพราะทองเหลืองสามารถยืนหยุ่นแนบสนิทกับเกลียวถังเป็นเนื้อเดียวกันทำให้ไม่เกิดช่องว่างระหว่างเกลียวถังกับสลัก
ถัง CO2 เป็นถังเหล็ก กับ ถังอลูมิเนียม ถังเหล็กมีน้ำหนักมากกว่า อลูมิเนียม ปัจจุบันจึงนิยมใช้แบบอลูมิเนียม ถ้าสลักหลุดจากเกลียวในขณะมีแรงดันถังจะเคลื่อนที่เหมือนการปล่อยลูกโป่ง เป็นการเคลื่อนที่ไร้ทิศทาง เพราะฉะนั้น การใช้ถังต้องระมัดระวังในการแตะต้องให้น้อยที่สุด
โดยวิธีการเคลื่อนย้ายที่ปลอดภัยใช้การอุ้มแทนการหิ้วที่หูบนสลัก การใช้ถังดับเพลิงในบ้านเราไม่ได้ใช้ครั้งเดียวจะมีการนำไปเติมอัดCo2ใช้แรงดันอัดเข้าไป การใช้หลายครั้งเกิดเกลียวหวาน สลักไม่แน่น หรือเกิดสนินที่เกลียวทำให้ใส่สลักไม่แนบเกิดช่องโหว่
เหตุการที่เกิดขึ้น ถังตั้งตรงอยู่ เหมือนสลักหลวมมีแรงดันเข้ามา ทำใหถังเอนตัววิ่งพุ่งชนเด็ก ความเร็วแรงดัน800ปอนด์ เป็นความเร็ว200-300กม./ชม.แรงดัน 800 ปอนด์ทะลุกำแพงคอนกรีตหนา 10-20 ซม.ได้แรงปะทะเท่ากับความแรงระเบิดซีโฟว์ครึ่งปอนด์ ลักษณะเศษถังที่ฉีดขาดเกิดจากเมื่อปะทะตัวเด็กเปลี่ยนทิศทางไปชนต้นไม้ จึงฉีดขาดบางส่วนไม่ใช่การระเบิด เพราะถ้าระเบิดต้องแตกเป็นชิ้น แต่ถังสร้างมาป้องกันระเบิดอยู่แล้ว สันนิษฐานว่าข้อต่อ สลักกับเกลียวถัง อาจไม่แนบไม่สนิทเกิดช่องว่างและมีแรงดันออกมา
ซึ่งการบรรจุต้องมีเครื่องมือพิเศษตรวจสอบว่าการบรรจุมีจุดรั่วไหลหรือไม่ หรือสลักกับเกลียวแนบสนิทหรือไม่ มองไม่เห็นด้วยสายตา ดังนั้นเป็นเหตุที่ตำรวจจะย้อนกลับไปตรวจสอบขั้นตอนการบรรจุก๊าซ CO2 หากเกิดจากข้อผิดพลาดการบรรจุ อาจเข้าข่ายความผิดกระทำการโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต