คัดลอก URL แล้ว
เตรียมพร้อมรับมือ “เอล นีโญ” หลังยกระดับแจ้งเตือน

เตรียมพร้อมรับมือ “เอล นีโญ” หลังยกระดับแจ้งเตือน

ศูนย์พยากรณ์สภาพภูมิอากาศ, องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ได้มีการอัปเดตสถานการณ์ในการติดตามการเกิดปรากฎการณ์เอล นีโญ ได้มีการประกาศยกระดับเตือนภัยเอลนีโญจากเดิมที่อยู่ในระดับ El Niño Watch หรือเป็นระดับเฝ้าติดตาม เพิ่มเป็นระดับ El Niño Advisory ภายหลังจากมีการประเมินว่า มีความน่าจะเป็นเกิน 90% แล้วที่จะเกิดปรากฎการณ์ เอล นีโญ และคาดว่าจะลากยาวถึงต้นปีหน้า

เอลนีโญ คืออะไร

เอล นีโญเป็นหนึ่งในสองของปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้นโดย รวมเรียกว่า El Niño Southern Oscillation (ENSO) เป็นคำที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร โดย

กระแสลม และกระแสน้ำในสภาวะปรกติ
ภาพ – NOAA

ซึ่งในปรากฎการณ์ ENSO ประกอบไปด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El Nino) และลานีญ่า (La Nina) โดยทั้งสองปรากฎการณ์นี้ ที่เกิดขึ้นเป็นขั้นตรงข้ามกัน สำหรับในสภาวะปกติลมค้า ( Trade Wind) พัดจากตะวันออกไปทางตะวันตก ส่งผลต่อกระแสน้ำอุ่นที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ในสภาวะที่เป็นปรากฎการณ์ เอลนีโญ จะส่งผลให้ลมค้า (Trade Wind) มีกระแสลมอ่อน และกระแสลมพัดย้อนกลับทำให้กระแสน้ำอุ่นพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกแทน และสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศให้เปลี่ยนแปลงไปไปจากปรกติ ทั่วโลกจากสภาวะปรกติ

กระแสลม และกระแสน้ำในสภาวะเอลนีโญ
ภาพ – NOAA

ผลกระทบต่อสภาพอากาศ

เมื่อกระแสน้ำ และกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีทั้งสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น เย็นลง รวมถึงเกิดขึ้นทั้งสองแบบในลักษณะที่ส่งผลให้ฤดูกาลมีความเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับผลกระทบที่คาดว่า จะเกิดขึ้นจากเอลนีโญ โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร (Met Office) ได้คาดการณ์ว่า จะส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญสภาวะแห้งแล้งมากกว่าปรกติตั้งแต่ช่วง มี.ค.-ก.ค. เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ของโลกเ เช่น ออสเตรเลีย

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ทำให้ปริมาณฝนลดลงจากปรกติ ปริมาณฝนอาจจะน้อยกว่าปรกติ 5 – 10% และอาจมีฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย. – ก.ค. 66 อาจทำให้หลายพื้นที่เผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิต และการเกษตร

เวียดนาม ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในขณะนี้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนทางบริเวณตอนเหนือของประเทศไม่มีน้ำมากพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ และเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว

ในช่วงปลายปีนี้ ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนกว่าปรกติ ในช่วงตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 – มี.ค. 2567 โดยเฉพาะทางบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ก็จะได้เผชิญผลกระทบในส่วนของสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ประเมินว่า อุณหภูมิโลกในปีหน้าจะสูงขึ้น และหลายพื้นที่ทั่วโลกมีโอกาสได้พบกับอากาศร้อนที่สูงขึ้นเป็น “นิวไฮ”

นอกจากนี้ จากสภาพอากาศร้อน และแห้งแล้งกว่าปรกติ ทำให้คาดว่า สถานการณ์ไฟป่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากขึ้น ทำให้ในขณะนี้ ทางการอินโดนีเซียได้เตรียมแผนการรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่ารุนแรง เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่เตรียมพร้อมกับการรับมือฝุ่นควันที่อาจจะพัดข้ามมาจากไฟป่าในอินโดนีเซีย

คนไทยต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง

จากสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 จนถึงต้นปี 2567 ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาวะฝนแล้งมากกว่าปรกติ และสภาพอากาศร้อนกว่าปรกติ ดังนั้นผลกระทบแรกที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้คือ

ภัยแล้ง – ฝนทิ้งช่วง

ถือเป็นสิ่งที่จะเผชิญในช่วงระยะแรกของการเกิดเอลนิโญในช่วงปลายปีนี้ นั่นคือ ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปรกติ และจะส่งกระทบต่อภาคเกษตรที่ต้องการน้ำเยอะ หรือ พื้นที่นอกเขตชลประทาน ดังนั้นจึงแนะนำให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมรับมือ โดยการหาจัดหาแหล่งน้ำ หรือกักเก็บน้ำเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับฝนทิ้งช่วง

ข้าวของราคาแพง

ผลกระทบจากภัยแล้ง จะส่งผลกระทบต่อปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะทำให้มีปริมาณลดลง และจะส่งผลกระทบให้ต่อราคาสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะพืช ผัก ผลไม้ในประเทศที่จะมีราคาสูงขึ้น

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าเกษตรจากต่างประเทศก็คาดว่า จะมีราคาปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ฝนแล้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ก็จะทำให้ผลผลิตลดลง มีราคาแพงขึ้น เช่น เมล็ดกาแฟ, ปาล์มน้ำมัน, น้ำตาล

วิกฤติอื่น ๆ

สิงคโปร์กำลังเตรียมการรับมือปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่าในประเทศอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเอลนิโญ จะส่งผลไฟป่ารุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อช่วงปลายปี 2562 บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยก็ได้เคยรับผลกระทบปัญหาหมอกควันจากประเทศอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน สภาพอากาศร้อนจะมีผลยาวไปจนถึงช่วงมี.ค. 2567 ซึ่งจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงในช่วงดังกล่าว จึงคาดว่า อาจจะส่งผลต่อปัญหาไฟป่าสามารถลุกลามได้ง่ายขึ้น และส่งผลกระทบได้มากยิ่งขึ้น


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง