คัดลอก URL แล้ว
คมนาคม ย้ำตรวจสอบ ‘ส่วยสติ๊กเกอร์’ ด้วยความโปร่งใสเป็นธรรมทุกฝ่าย

คมนาคม ย้ำตรวจสอบ ‘ส่วยสติ๊กเกอร์’ ด้วยความโปร่งใสเป็นธรรมทุกฝ่าย

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติ๊กเกอร์บนรถบรรทุก ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก คณะกรรมการ ผู้แทนจากกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการฯ ได้มอบให้คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติ๊กเกอร์บนรถบรรทุก โดยมี นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนดังกล่าวว่ามีข้อมูลเป็นความจริงหรือไม่ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด และให้รายงานผลต่อคณะกรรมการฯ ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ซึ่งหลังจากได้รับการแต่งตั้ง คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมเพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 และได้ลงพื้นที่ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ระบบตรวจสอบน้ำหนักที่ใช้กับสถานี

รวมถึงการทำงานของเครื่องตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 ณ สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ของกรมทางหลวง (ทล.) และสถานีตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะ ถนนสาย นย.3001 แยก ทล.305 – บ้านบางน้ำเปรี้ยว (ตอนนครนายก) จังหวัดนครนายก ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อศึกษากระบวนการทำงานของสถานีตรวจสอบน้ำหนักของทั้ง 2 หน่วยงาน และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้นำข้อมูลทั้งหมดมาใช้ประกอบการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และสรุปนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในวันนี้ โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลและมีมติ สรุปได้ดังนี้

  1. มอบ ทล. ทช. ทบทวนการดำเนินงานของหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ซึ่งทำหน้าที่ออกสุ่มตรวจสอบรถบรรทุก ทั้งเส้นทางหลัก สายรอง เส้นทางที่ไม่มีสถานี เส้นทางที่มีการหลบเลี่ยงสถานี และออกตรวจสอบตามข้อร้องเรียน ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยนำอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น กล้องตรวจการณ์ (Body Camera) มาใช้ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการจับกุม เพื่อให้สามารถทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดโอกาสในการทุจริตของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ในระยะยาวให้นำทุกกระบวนการเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อส่งข้อมูลไปยังศูนย์ควบคุมส่วนกลางแบบ Real Time
  2. ทล. รายงานว่า ได้ตั้งคณะกรรมการจำนวน 2 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1 เพื่อกำหนดระเบียบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความรัดกุม พร้อมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และชุดที่ 2 เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยจะเชิญสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมาให้ข้อมูลประกอบการตรวจสอบ ทั้งนี้ ทล. จะรายงานความคืบหน้าการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนและตรวจสอบทุกประเด็นด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและเชื่อมั่นในการดำเนินการของกระทรวงฯ และหากพบว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการทุจริต กระทรวงฯ จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง