คัดลอก URL แล้ว
สกัดจับไม้พะยูงผิดกฎหมาย กว่า 120 ท่อน ก่อนส่งนายทุน

สกัดจับไม้พะยูงผิดกฎหมาย กว่า 120 ท่อน ก่อนส่งนายทุน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ (สอช.) ว่าได้รับการประสานจากสายข่าวว่าช่วงวันที่ 5 – 6 มิถุนายน 2566 มีขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง (เครือข่ายมู่หลาน) ทำไม้และนำไม้พะยูงผิดกฎหมายมาซุกซ่อนไว้ในท้องที่ บ้านตะเคียน อ. กาบเชิง จ.สุรินทร์ จึงได้มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า(ขสป.) ห้วยทับทัน -ห้วยสำราญ และ ขสป. ห้วยศาลา เข้าทำการเฝ้าติดตามบริเวณกระท่อมกลางทุ่งนา ที่มีสระน้ำล้อมรอบจำนวน 4 สระ พิกัดบ้านตะเคียน อ. กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อเลี้ยงปลาตามที่รับแจ้ง จนกระทั่งวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ช่วงเย็นพบจักรยานยนต์ขับเข้า-ออกบริเวณกระท่อมมากผิดปกติจนเป็นที่น่าสงสัย

ผอ.สำนักอุทยานฯ จึงได้ประสานไปยัง นายพนัชกร โพธิบัณฑิต ผอ.ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วยนายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) และขอสนับสนุนกำลังหน่วยงานภาคสนามของสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ประกอบด้วย ขสป.ห้วยศาลา ขสป. ห้วยทับทัน-ห้วยศาลา อช. เขาพระวิหาร เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวัง การขนย้ายไม้พะยูงออกจากพื้นที่ในเวลากลางคืน โดยเบื้องต้นตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ใน จ. สุรินทร์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำการดังกล่าว

จนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. พบการเคลื่อนไหวในพื้นที่เฝ้าติดตาม โดยมีกลุ่มคนประมาณ 10 คน ลงไปในสระน้ำและมีรถเครน 6 ล้อยกไม้อีก 1 คัน เข้าไปในพื้นที่ จนกระทั่งเวลา 22.20 น เมื่อกลุ่มคนดังกล่าวขนไม้ขึ้นเต็มรถและจะเคลื่อนรถ และเตรียมนำรถออกออกจากพื้นที่ ผอ.สำนักอุทยานฯ จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบทันที ซึ่งจากการตรวจสอบพบไม้ในรถบรรทุกมากกว่า 60 ท่อน/เหลี่ยม รวมถึงไม้ที่วางอยู่ด้านล่างอีกจำนวนหนึ่งและคาดการณ์ว่าจะมีอยู่ในบ่อน้ำอีกจำนวนหนึ่ง

ต่อมาเวลา 05.00 น. นายชัยวัฒน์ และ นายพนัชกร ได้เดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุเพื่อตรวจสอบไม้พะยูง โดยได้พบกับเจ้าของแปลงที่ดิน คือนายสม สร้อยจิตร ภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 172 ม.9 ต.ตะเคียน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งนายสม ยินยอมให้ตรวจสอบโดยดีพร้อมแสดงเอกสารการครอบครอบและซื้อขายไม้ ประมาณ 20 ชุด ซึ่งซื้อขายไม้พะยูงจากที่ดินเอกสารสิทธิ์หลายจังหวัดในภาคอีสาน รวมโฉนดที่ดิน 32 แปลง โดยไม้พะยูงดังกล่าวได้เก็บซุกซ่อนไว้ในที่ดินโฉนด นส 4 จ. เลขที่ 3604 เล่ม 37 หน้า 4 เลขที่ดิน 4 ต.ตะเคียน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ เนื้อที่ดิน 5-2-73 ไร่ มี นางแสง สร้อยจิตร ภรรยานายสม เป็นเจ้าของ

จนกระทั่งเวลา 08.30 น. คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ได้ร่วมกันตรวจสอบไม้พะยูงหวงห้ามที่ขนขึ้นจากสระน้ำของนายสม พบว่า ไม้ดังกล่าวบางท่อนมีลักษณะใหม่สดและเป็นไม้แก่นล่อน มีร่องรอยการถากและเขียนระบุน้ำหนักแต่ละท่อน ตรวจสอบที่หน้าตัดของไม้ไม่พบร่องรอยรูปรอยดวงตราของพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด โดยตรวจนับได้ ดังนี้ 1.ไม้พะยูง รวม 123 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร 6.049 ลบ.ม. แบ่งเป็น ไม้พะยูง ที่กองบนพื้น จำนวน 16 ท่อน ปริมาตร 1.388 ลบ.ม. ไม้พะยูง ที่อยู่บนรถ จำนวน 69 ท่อน ปริมาตร 2.769 ลบ ม. และไม้พะยูงที่ซุกซ่อนอยู่ในน้ำ 38 ท่อน ปริมาตร 1.892 ลบ. ม. 2. รถเครนบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้อ isuzu หมายเลขทะเบียนรถ 83-1635 สุรินทร์

จากการตรวจสอบนายสม ให้ถ้อยคำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้รับซื้อสะสมไม้พะยูงจากที่ต่างๆ ซึ่งพ่อค้าจะนำไม้มาส่งให้ทุกครั้งในบริเวณจุดเกิดเหตุ โดยรับซื้อไม้ดังกล่าวมาในราคาท่อนละ 10,000 – 20,000 บาท แล้วแต่ความสวยงามของไม้ และได้จ้างแรงงานในหมู่บ้านจำนวน 7 คน พร้อมรถ 6 ล้อ บรรทุกติดเครน เตรียมการขนย้ายส่งต่อให้นายทุนเพื่อนำไปขายยังต่างประเทศ ทั้งนี้ได้ปรึกษาเรื่องเอกสารกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จังหวัดสุรินทร์ เพื่อขอออกใบเคลื่อนย้ายไม้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนเหตุที่ย้ายไม้ในเวลากลางคืนนั้น เพราะจะไม่มีใครเห็น สะดวก และกลัวเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ส่วนคนรับซื้อไม้นั้นไม่ทราบชื่อและไม่สามารถติดต่อกันได้แล้วเนื่องจากผู้รับซื้อลบรายชื่อออกไป เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการตรวจอายัด ไม้พะยูง จำนวน 123 ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร รวม 6.049 ลบ.ม. ทั้งนี้ตรวจสอบกับเอกสารการได้มาของนายสม ผู้ครอบครองไม้ ทั้งหมด 20 ฉบับ ปรากฏว่าไม่มีเอกสารใดที่นายสม สามารถยืนยันได้แม้แต่ฉบับเดียว เนื่องจากเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นเอกสารเท็จ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบ ซึ่งติดตามขบวนการทำไม้ พบว่าไม้ดังกล่าวเป็นของกลุ่มขบวนการมู่หลาน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกเจ้าหน้าที่ตรวจยึด/สืบสวน/ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบจากการติดต่อกับนายสม พบว่าเบอร์ดังกล่าวเป็นของร้านเฟอร์นิเจอร์แม่กลองแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือข่ายค้าไม้ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งก่อนหน้านี้หน่วยพญาฯ เสือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้คณะเจ้าหน้าจะดำเนินการขยายผลเพื่อตัดวงจรการทำไม้ที่ผิดกฎหมายต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง