วันนี้ ( 7 มิถุนายน 2566 ) ที่ สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347 อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังเกิดกรณีส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจการกระทรวงคมนาคม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีชั่งน้ำหนักจุดดังกล่าว
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้อธิบายรูปแบบการทำงานให้สื่อมวลชนฟัง พร้อมมาตราการในการตรวจสอบตามประเภทของรถบรรทุก รวมถึงพาชมห้องควบคุมประจำหน่วย ซึ่งจะแสดงรูปแบบการทำงานของการช่างน้ำหนักแบบอัตโนมัติ โดยมีกล้องที่ใช้ในการตรวจสอบในกรณีที่รถบรรทุกหลบหนี หรือจงใจเลี่ยงด่านช่างน้ำหนักอีกด้วย
โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 2 ราย ในข้อหาขับรถบรรทุกทรายน้ำหนักเกินมาตรฐานจำนวนมาก จึงได้มีการควบคุมตัวและดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย
ด้านคนขับรถบรรทุก บอกว่า ตัวเองใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ ที่ผ่านมาไม่เคยกระทำความผิด แต่ช่วงเช้าชั่งน้ำหนักจากต้นทางไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมเมื่อมาถึงสถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยาถึงชั่งวัดได้เกินค่ามาตรฐาน ทั้งที่น้ำทรายไหลออกตลอดเวลา แท้จริงแล้วน้ำหนักจะต้องลด แต่ตนยอมรับผิดซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องค่าปรับต่อไป ส่วนเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก ตัวเองไม่ทราบ จะต้องไปถามเจ้าของกิจการ เพราะตนเป็นเพียงแค่ลูกจ้างไม่ทราบรายละเอียด
นายมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นการตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของสถานีชั่งน้ำหนักว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกตามที่เป็นข่าวหรือไม่ จากเรื่องดังกล่าวที่ถูกเผยแพร่ออกไปนั้น ทางหน่วยงานได้มีการนำเทคโนโลยีและจะมีการสอบสวนบุคคลากรว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกหรือไม่ รวมถึงการหาลักษณะหรือชนิดประเภทความหมายของสติ๊กเกอร์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่นำมาใช้ในด่านชั่งน้ำหนัก 97 จุดทั่วประเทศ และจะมีการสร้างด่านชั่งเพิ่มตามความเหมาะสม
สำหรับที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347 ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติสามารถคัดแยกรถบรรทุกเข้าตรวจสอบน้ำหนักและส่งค่าน้ำหนักไปยังส่วนกลาง หากน้ำหนักไม่เกินกฏหมายที่กำหนด ก็สามารถผ่านด่านได้ตามปกติ แต่หากน้ำหนักเกินจัต้องเข้าด่านชั่งน้ำหนักถาวรตรวจซ้ำอีกครั้ง หากพบว่าน้ำเกินจริงก็จะต้องถูกดำเนินคดีทำบันทึกจับกุมส่งตัวไปยังสถานีตำรวจแต่ละท้องที่ก่อนส่งให้ศาลพิจารณา โดยมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดอยู่ตลอด ไม่ได้มีการปล่อยปะละเลย และกรณีที่ สหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย ออกมาเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ทางหลวงสถานีตรวจสอบน้ำหนักสุวินทวงศ์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก โดยมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของหรือทำสติ๊กเกอร์แจกจ่ายให้กับรถบรรทุก ขณะนี้ได้สั่งการให้โยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ยังสถานีตรวจสอบน้ำหนัก จ.สระแก้ว ตลอดจนตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
หากพบผู้บังคับบัญชาเกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ระดับใดก็ตาม จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมายไม่มีข้อยกเว้น กระทรวงคมนาคมจะต้องบูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ประจำด่านชั่งน้ำหนักทั่วประเทศให้คงคุณภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการปฏิบัติตามข้อบังคับในการบรรทุกสินค้า
นายมนตรี ยังกล่าวอีกว่า “ตนเชื่อว่าการตีแผ่ข้อมูลเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกจะทำให้สถาการณ์ดีขึ้น และทำให้เรื่องดังกล่าวหมดไปในอนาคต “
ด้าน นายอลงกรณ์ พรหมศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ ได้ยอมรับว่าปี 2563 – 2566 กรมทางหลวงสามารถจับกุมผู้ที่กระทำความผิดได้เพิ่มขึ้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตำรวจทางหลวงมีสถานีควบคุมชั่งน้ำหนักทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ไม่มีด่านชั่งน้ำหนักก็จะมีระบบพ้อยเช็คที่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวนมาก ซึ่งแต่ละสถานีชั่งน้ำหนักสามารถครอบคลุมรัศมีในพท้นที่ 8 กิโลเมตร และมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายท้องถิ่นที่บังคับเวลาในการวิ่งเข้าเมือง
ภาพ – วิชาญ โพธิ