ภายหลังเกิดคดีฆ่าตกรรม อันต้องสงสัยว่า มีการใช้สารไซยาไนด์ วันนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้า ครอบครอง จำหน่ายและการใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์ เป็นการเร่งด่วน และจะใช้ไปจนกว่าคดีของ นาง สรารัตน์ หรือ “แอม” จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้หาแนวทางการควบคุม ทั้งผู้นำเข้า ครอบครอง จำหน่ายและผู้ใช้ โดยนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มาตรการเร่งด่วนมีขึ้นเพื่อยกระดับการกำกับดูแลโพแทสเซียมไซยาไนด์ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งได้เชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์เข้าให้ข้อเท็จจริง และชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลสารโพแทสเซียมไซยาไนด์และรับทราบมาตรการพิเศษ ที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว ซึ่งเงื่อนไขพิเศษ จะเริ่มใช้ 15 มิถุนายนนี้ เรื่อยไปจนกว่า คดีของนางสรารัตน์ หรือแอม จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
สำหรับเงื่อนไขพิเศษที่กำหนด ได้จัดกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าโพแทสเซียมไซยาไนด์เป็น 3 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ประกอบด้วย กลุ่มผู้นำเข้า สำหรับกิจการโรงงาน และกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับห้องปฏิบัติการ ศึกษา วิเคราะห์วิจัย โดยต้องยื่นข้อมูลของผู้ใช้ พร้อมระบุวัตถุประสงค์การใช้ประกอบการแจ้งนำเข้า ก่อนนำของออกจากด่านศุลกากร ในรูปแบบเอกสารที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น และต้องรายงานทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการครอบครองแบบเรียลไทม์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ส่วนกลุ่มผู้นำเข้าสำหรับกิจการชุบล้างโลหะขนาดเล็ก ต้องยื่นข้อมูลผู้ใช้ พร้อมระบุ วัตถุประสงค์การใช้ประกอบการแจ้งนำเข้า-ก่อนนำของออกจากด่านศุลกากร และต้องรายงานปริมาณการครอบครองทุก 3 เดือน และให้ทั้งหมดรายงานต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย อีกทั้งกำหนดให้ใบอนุญาตฉบับใหม่มีอายุไม่เกิน 1 ปี จากเดิมไม่เกิน 3 ปี และต้องมีข้อมูลผู้จำหน่ายและผู้ใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาต
ซึ่งหากพบ ว่า ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือ สคบ. เพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ ในแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ทุกประเภท