คัดลอก URL แล้ว
อนุชา เยี่ยมชม “ทาจิมะภูพาน” ดันโครงการ “โคล้านครอบครัว”

อนุชา เยี่ยมชม “ทาจิมะภูพาน” ดันโครงการ “โคล้านครอบครัว”

อนุชา ลงพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ เยี่ยมชมการเพาะพันธุ์โค “ทาจิมะภูพาน” โคเนื้อวากิวเกรดพรีเมี่ยม ดันโครงการ โคล้านครอบครัว” ร่วมศึกษา ยกระดับพัฒนาคุณภาพโคไทยสู่การส่งออก กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

วันนี้ (31 พฤษภาคม 66) ณ ชนะฟาร์ม กองทุนหมู่บ้านถ้ำดิน หมู่ 11 ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นประธานเปิดงาน “สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างชาติมั่นคง” ภายใต้โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายธัชชญาณ์ณัช เจียรธนัทกานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น สมาชิกกองทุนฯ เข้าร่วม

นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้รัฐบาลส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ดำเนินการผ่านโครงการ “โคล้านครอบครัว” สำหรับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ฯ โดยมุ่งให้ความรู้ประชาชนด้านการทำปศุสัตว์ เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ต่อยอดสู่ความร่ำรวย อันจะทำให้หลุดพ้นจากความยากจนได้ในอนาคต ซึ่งการลงพื้นที่ในวันนี้ ตนเองได้มาเยี่ยมชมการเพาะพันธุ์โคของวิสาหกิจชุมชนทาจิมะถ้ําดิน หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ ทองแสนขันวากิว ที่มีการเลี้ยงโคต้นน้ำ หรือ โคเนื้อพันธุ์วากิวลูกผสม (ทาจิมะภูพาน) จํานวน 110 ตัว ในพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ปัจจุบันมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี

นายอนุชา เน้นย้ำว่า ความต้องการบริโภคเนื้อวัวเพิ่มมากขึ้น ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบเข้าด้วยกัน สำหรับความต้องการของตลาดในการบริโภคเนื้อวัว แบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มตลาดบน กลุ่มตลาดกลาง ซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่มาก และกลุ่มตลาดล่าง โดยกลุ่มตลาดบน มีความต้องการบริโภคเนื้อโคขุนในระดับคุณภาพเกรด 3.5 – 4.5 ประมาณการราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 5,000 – 20,000 บาท ซึ่งสายพันธุ์โคทาจิมะ หรือ โคเนื้อ- ทาจิมะ เรียกอีกชื่อว่า Japanese Black หรือ wagyu เป็นโคเนื้อสายพันธุ์ญี่ปุ่น ที่มีความเป็นเลิศสายพันธุ์หนึ่ง ที่รู้จักกันดีทั่วโลกในชื่อ เนื้อโกเบ (Kobe Meat) หรือ เนื้อมัตสึซากะ (Matsusaka Meat) ทำให้คนในวงการผู้บริโภคเนื้อต่างพูดถึงและให้คำนิยามว่า เป็นเนื้อพิเศษที่มีความนุ่มละมุนลิ้นชนิดละลายในปาก และต้องสรรหามาลิ้มลองรสชาติให้ได้สักครั้งในชีวิต ส่งผลให้เนื้อชนิดนี้มีราคาแพงมาก หรือเรียกได้ว่ามีราคาแพงสุดในโลกเลยทีเดียว ดังนั้น จะเลี้ยงโคเนื้อ หรือ เลี้ยงโคขุน ก็ก่อเกิดธุรกิจภายในครัวเรือนขึ้นแล้ว เพราะถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ถึงแม้จะเลี้ยงเพียง 2-3 ตัวก็ตาม เพราะการลงทุนจะต้องมีแผนงานที่แน่นอน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากเงินทุนที่ลงไปตามแผนงานที่กำหนด สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง “โคขุน” สามารถศึกษาหาความรู้ได้จากเกษตรกรที่สำเร็จแล้ว ในส่วนของการสนับสนุนตามโครงการโคล้านครอบครัว จะเป็นจุดตั้งต้นให้สมาชิกมีรายได้จากการเลี้ยงโค จะเป็นอีกหนึ่งหนทางอาชีพที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน ขอเพียงมีความตั้งใจ อดทนเลี้ยงวัว ในวันข้างหน้า วัวจะเลี้ยงเรา เลี้ยงครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ โคเนื้อทาจิมะในประเทศไทยสามารถเลี้ยงได้แล้ว เมื่อปี 2531 โดย Mr. Nishida ผู้แทนสมาคม น้อมเกล้าถวายฯ โควากิว สายพันธุ์ทาจิมะ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สยามบรมราชกุมารี 1 คู่ (ผู้ 1 ตัว เมีย 1 ตัว) และได้พระราชทานต่อให้กรมปศุสัตว์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยง การจัดการของเกษตรกรในประเทศไทย รวมถึงได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อใหม่ ให้เป็น “โคเนื้อภูพาน” เป็นโคเนื้อคุณภาพดี มีราคา เลี้ยงได้ทั่วไทย นับเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์โคทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่ต้องการสร้างอาชีพได้เป็นอย่างดี