การศึกษาของออสเตรเลียที่เผยแพร่ในวารสารแลนเซ็ต รูมาโทโลจี (Lancet Rheumatology) ระบุว่าผู้คนทั่วโลก 843 ล้านคน อาจได้รับผลกระทบจากอาการปวดหลังภายในปี 2050
การวิเคราะห์ข้อมูลระยะเวลา 30 ปี ระหว่างปี 1990-2020 จากกว่า 204 ประเทศและภูมิภาค เพื่อจัดทำแผนที่ภูมิทัศน์ของผู้มีอาการปวดหลังเมื่อเวลาผ่านไป บ่งชี้ว่าจำนวนคนปวดหลังระดับสากลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้คนมากกว่าครึ่งล้านประสบกับอาการดังกล่าวในปี 2017 และสูงราว 619 ล้านรายในปี 2020
ภาวะความพิการอย่างน้อย 1 ใน 3 ที่เชื่อมโยงกับอาการปวดหลัง มีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านอาชีพ การสูบบุหรี่ และน้ำหนักเกินเกณฑ์
ข้อมูลเผยว่าออสเตรเลียจะพบจำนวนคนปวดหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2050 ขณะที่จำนวนคนปวดหลังจะเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญมากที่สุดในเอเชียและแอฟริกา
มานูเอลา เฟอร์เรรา ผู้เขียนชื่อแรกของการศึกษา และศาสตราจารย์จากศูนย์สุขภาพด้านกล้ามเนื้อและกระดูกซิดนีย์ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขตสุขภาพท้องถิ่นซิดนีย์ และเขตสุขภาพท้องถิ่นนอร์ธเทิร์น ซิดนีย์ กล่าวว่าการวิเคราะห์ทำให้เห็นภาพจำนวนคนปวดหลังล่างที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อระบบการรักษาพยาบาลของเรา เราจำเป็นต้องสร้างแนวทางระดับชาติที่มีความต่อเนื่อง เพื่อจัดการอาการปวดหลังล่างตามที่พบจากการวิจัย
ด้าน เคที เดอ ลูกา ผู้เขียนร่วมการศึกษา และอาจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยเซนทรัลควีนส์แลนด์ กล่าวว่าหากปราศจากการดำเนินงานที่ถูกต้อง อาการปวดหลังล่างสามารถกลายเป็นต้อตอของปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด อาการทางสุขภาพจิต การผ่าตัดทางการแพทย์แบบรุกล้ำร่างกาย และความพิการ
เดอ ลูกาเสริมว่าอาการปวดหลังล่างจะยังคงเป็นต้นตอสำคัญที่สุดของภาวะความพิการทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก รวมถึงผลกระทบทางร่างกายและบุคคลซึ่งจะคุกคามการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะโดยตรง