จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เป็นโรงเรียนชื่อฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งคำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าสมาชิกคนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทหารที่เข้ามารัฐประหารประเทศในปี 2557 ตั้งข้อสงสัยว่าพิธาอาจไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยอเมริกันชื่อดังจริง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าว AFP โดย AFP Fact-Check ประเทศไทย ในส่วนของการตรวจสอบข่าวปลอม ได้เผยแพร่ข้อมูลโดยระบุว่า จิม มีแฮน เจ้าหน้าที่ทะเบียนจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ตอบ AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ว่า “ฝั่งทะเบียนแห่ง HKS ยืนยันว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลงทะเบียนเรียนเต็มเวลาในระดับรัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต ที่วิทยาลัยการปกครองจอห์น เอฟ เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด”
“เขาเริ่มการศึกษาในเดือนกันยายน 2551 และสำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตในวันที่ 26 พฤษภาคม 2554” ข้อเท็จจริงนั้น ตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด เพราะจากข้อมูลทางการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด HKS เป็นหนึ่งใน 11 วิทยาลัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วิทยาเขตเคมบริดจ์
ซึ่งประวัติการศึกษา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล นั้น ได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ ก่อนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ คณะการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้ทุนการศึกษา International Student ของ Kennedy School of Government, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา
และจบปริญญาโทใบที่สองจากคณะบริหารธุรกิจ Sloan, Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) ประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ทางด้อมส้มยังได้มีการย้อนขุดภาพที่นายพิธา เคยได้โพสต์ไว้ในอินสตราแกรมส่วนตัวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นภาพบัตรนักเรียน เพื่อยืนยันว่านายพิธา เรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา จริง