คัดลอก URL แล้ว
เอลนีโญกระทบ ศก. โลกหลายล้านล้าน – ประเทศกำลังพัฒนากระทบมากสุด

เอลนีโญกระทบ ศก. โลกหลายล้านล้าน – ประเทศกำลังพัฒนากระทบมากสุด

ภายหลังจากที่ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้คาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ ในช่วงเดือน ก.ค. 2566 นี้ และมีโอกาสถึง 80% ที่ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. 2566

ในขณะที่ทาง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA ระบุว่า มีความเป็นไปได้มากกว่า 90% ที่ปรากฎการณ์ เอลนีโญ จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน พ.ค. – ก.ค. 2566 นี้ โดยคาดว่า น้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเส้นศูนย์สูตรกําลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญในระดับปานกลาง โดยจะเริ่มในช่วงพฤษภาคมถึงกรกฎาคม หลังจากนั้นจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเข้าสู่ฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ

ซึ่งปรากฏการณ์เอลนิโญที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้หลายพื้นที่เผชิญความแห้งแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน และพายุที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ปริมาณปลาในทะเลลดลง สวนทางกับโรคในเขตร้อนที่เพิ่มขึ้น และรุนแรงขึ้น

ผลการศึกษาล่าสุด โดย Dartmouth Earth Christopher Callahan และ Justin Mankin ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Science ระบุว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปรากฎการณ์เอล นีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายล้านล้านดอลลาร์

ตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจในปี 2022 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลา 40 ปี พบว่า การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนมีผลกระทบอย่างมากซุกซ่อนอยู่

ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ สามารถส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจได้มากถึง 1%

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในประเทศสเปน
(ภาพ – Pilar Flores)

ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการตรวจสอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลกในช่วง 10 หลังจากการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญในปี 1982-83 และ 1997-98 และพบการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญนานกว่า 5 ปี ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบนั้นมีมูลค่า 4.1 ล้านล้านดอลลาร์และ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

สำหรับในปี 2023 นี้ ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ ไปจนถึงปี 2029

ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า เหตุการณ์ในปี 1982-83 และ 1997-98 ทําให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐอเมริกาลดลงประมาณ 3% ในขณะที่ปี 2003 GDP ของประเทศเขตร้อนชายฝั่ง เช่น เปรูและอินโดนีเซียลดลงมากกว่า 10%

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเปรู มีแนวโน้มจะเผชิญกับฝนตกหนักที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วมขัง ในขณะที่การจับปลามีแนวโน้มลดลงเนื่องจากคลื่นความร้อนส่งผลต่อปลาในทะเล ในอินโดนีเซีย และออสเตรเลียอาจจะเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรง

ในปี 1998 ที่เกิดเอลนีโญ ยังก่อให้เกิดไฟป่ารุนแรงในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย โดยเฉพาะที่อินโดนีเซีย

ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะได้รับฝนมากขึ้น ในขณะที่ภาคเหนือของประเทศอุ่นขึ้น และอาจจะถือว่าเป็นข้อดีของเอลนีโญมักจะลดกิจกรรมการเกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติก

ผลการศึกษายังพบว่า ประเทศในเขตร้อนมีแนวโน้าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากที่สุดทั้งจากการที่อยู่ใกล้กับการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ และ GDP ที่ต่ำกว่า รวมถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ส่งผลให้การเกิดเอลนีโญกระทบต่อ GDP ได้มากกว่า

นอกจากผลต่อประเทศกลุ่มที่กำลังพัฒนามากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานอยู่ระยะหนึ่งกว่าที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับคืนมาสู่ภาวะปรกติ โดยประเทศในเขตร้อนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และเศรษฐกิจจะชะลอตัวอีกอย่างน้อย 5 ปี อาจจะยาวนานได้ถึง 14 ปี แต่จะไม่ยาวนานเกินไปกว่านี้

(แฟ้มภาพ)

ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะมีเครือข่ายต่าง ๆ ในการป้องกันต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มากกว่า เช่น หากเกิดภัยแล้งในรัฐอินเดียนา ของสหรัฐฯ และทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย แต่พืชผลเรานั้นได้รับการประกันไว้แล้ว ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 จะมีมูลค่าถึง 84 ล้านล้านดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับการขยายตัว ความถี่ และความรุนแรงของปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้น แม้ว่า หลายชาติทั่วโลกจะมีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้บรรลุตามเป้าหมายก็ตาม

“หากคุณภามว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นมีต้นทุนมากแค่ไหน คำตอบนั้นอาจจะเริ่มต้นด้วยการถามว่า เราต้องจ่ายไปเท่าไหร่กับสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้น”

ในรายงานผลการศึกษาฉบับนี้ ได้แนะนำให้หลายประเทศลงทุนในการปรับตัวรับมือกับปรากฎการณ์เอลนีโญให้มากขึ้น เนื่องจากหลายประเทศไม่ได้มีการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีเกิดขึ้นเกือบทุกปี สามารถส่งผลให้เกิดสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งในออสเตรเลีย, เกิดไฟป่าในอินโดนีเซีย, ฝนตกในพื้นที่แห้งแล้งของแอฟริกาตะวันออก, พายุเฮอริเคนแอตแลนติกที่ลดลง, พายุหิมะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ความร้อนที่ทำลายแนวปะการัง


ข้อมูล –


ข่าวที่เกี่ยวข้อง