คัดลอก URL แล้ว
โฆษกรัฐบาลเตือน ระวังไข้เลือดออกหน้าฝน หากพบอาการเข้าข่ายต้องรีบพบแพทย์

โฆษกรัฐบาลเตือน ระวังไข้เลือดออกหน้าฝน หากพบอาการเข้าข่ายต้องรีบพบแพทย์

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกมาสู่คน โดยมักระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี จึงขอเตือนให้ประชาชนป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรคไข้เลือดออก โดยร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน โรงเรียน และชุมชน โดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ตามข้อแนะนำของกรมควบคุมโรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ รวมถึงป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาด้วย

นายอนุชากล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะขณะนี้เป็นช่วงของการเปิดภาคเรียนของประเทศไทย ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มเด็กนักเรียนในสถานศึกษา และบางพื้นที่เริ่มมีฝนตก จึงขอให้สถานศึกษา ศูนย์เด็กในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการจัดสถานศึกษา ศูนย์เด็กเล็กในชุมชนให้มีความปลอดภัย ปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอันเป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก รวมทั้งขอให้ผู้ปกครองสังเกตอาการของบุตรหลานและคนในครอบครัว หากพบมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร โดยหากอาการไข้สูงเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ให้สันนิษฐานอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนค มารับประทาน และให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้

“ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 19 ระหว่างวันที่ 7 – 13 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 14,811 ราย มีผู้เสียชีวิต 13 ราย โดยกรมควบคุมโรคได้แนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน และในชุมชน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ 1) เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2) เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและชุมชนให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3) เก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดป้องกันยุงลายไปวางไข่ สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ ขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ และใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุงเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นายอนุชา กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง