คัดลอก URL แล้ว
ยุโรปตอนใต้เผชิญวิกฤติ “ภัยแล้งรุนแรง” จำกัดการใช้น้ำ-แจกจ่ายน้ำดื่ม

ยุโรปตอนใต้เผชิญวิกฤติ “ภัยแล้งรุนแรง” จำกัดการใช้น้ำ-แจกจ่ายน้ำดื่ม

ยุโรปตอนใต้เผชิญวิกฤติภัยแล้งอย่างหนัก โดยต้องมีการออกมาตรการจำกัดการใช้น้ำในพื้นที่ภัยแล้ง รวมถึงต้องมีการนำรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ทั้งในฝรั่งเศส, สเปน, โปรตุเกส

ในขณะที่มีข่าวน้ำท่วมในประเทศอิตาลีอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ หลายประเทศในแถบทวีปยุโรปตอนใต้กำลังเผชิญภัยแล้งอย่างหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างหนัก

ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาบริเวณประเทศสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก และความร้อนที่รุนแรงที่สุดครั้งประวัติการณ์ ทำให้หลายประเทศยังคงต้องรอฝนที่คาดว่า จะเข้ามาภายหลังผ่านฤดูร้อนไปได้

แผนที่แสดงพื้นที่ประสบภัยแล้งในยุโรป โดยพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงเดือน เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา

ฝรั่งเศสแล้งหนัก

สถานการณ์ภัยแล้งในฝรั่งเศสยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งในปีนี้ ภายหลังจากผ่านพ้นช่วงฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ฝรั่งเศสก็เผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1959 ส่งผลให้มีบางพื้นที่ที่จะต้องมีการจัดลำดับในการใช้น้ำ รวมถึงภาคเกษตรด้วย

ในเมือง Coucouron ทางตอนกลางของฝรั่งเศส ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้ระดับน้ำในทะเลสาบลดลงอย่างมาก พื้นดินที่เคยเป็นทุ่งหญ้า และทุ่งนากลายเป็นพื้นที่ดินแห้งแล้ง สีน้ำตาล แม้จะถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิ ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำดื่ม – น้ำใช้บางส่วนที่ได้จากการแจกจ่ายให้ตามถนนเท่านั้น โดยมีนำรถบรรทุกน้ำอออกแจกจ่ายตามบ้านเรือนสัปดาห์ละสองครั้ง

ซึ่งเมืองนี้ ประสบปัญหาภัยแล้งมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้ว ทั้งที่ตามปรกตินั้นจะมีฝนตกในปริมาณมากเกินพอกับความต้องการของการใช้น้ำภายในเมือง

ส่วนที่จังหวัดปีเรเน-ออรีย็องตาล ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสได้มีคำสั่งห้ามใช้น้ำรดน้ำในสวนหลังบ้าน หรือเติมสระว่ายน้ำ หรือใช้ล้างรถ เพื่อจำกัดการใช้น้ำที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ และสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับการบริโภคเป็นหลัก

ภาพถ่ายดาวเทียมเปรียบเทียบพื้นที่ในประเทศสเปนที่ประสบภัยแล้ง
ระหว่างพ.ค. 2022 และ พ.ค. 2023
(ภาพ – European Union, Copernicus Sentinel-X imagery)

สเปนปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกว่าครึ่ง

ในประเทศสเปน ปริมาณฝนในช่วงที่ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของปรกติ ประชาชนจำนวนหลายพันคนต้องพึ่งพารถบรรทุกน้ำที่นำน้ำดื่มมาแจกจ่ายตามพื้นที่ต่าง ๆ

รวมถึงหน่วยงานของรัฐต้องมีการประกาศข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อจำกัดการใช้น้ำที่มีเหลืออยู่อย่างจำกัดให้สามารถมีน้ำใช้ได้นานขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศสเปนปีนี้ สาหัสกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีก

ปริมาณน้ำในเขื่อนที่กั้นแม่น้ำ Tagus เหลือเพียง 39.3% ของความจุเท่านั้น ส่งผลให้บริเวณเหนือเขื่อนบางส่วนแห้งขอด

ซึ่งที่ผ่านมา สเปนถูกขนานนามว่า เป็นสวนหลังบ้านแหล่งยุโรป เนื่องจากผลผลิตมะกอกครึ่งหนึ่งของอียู และผลไม้อีกราว 1 ใน 3 นั้นเป็นผลผลิตที่มาจากประเทศสเปน ดังนั้นภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อวิกฤติอาหารในยุโรปอย่างเลี่ยงไม่ได้

ด้านนักวิจัยในเมืองวาเลนเซีย ระบุว่า จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องหาแนวทางป้องกัน หรือต่อสู้กับปัญหาภัยแล้งที่กำลังคืบคลานเข้ามานี้ และกำลังจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศกลายเป็นทะเลทราย

ภาพแสดงปริมาณฝนตกในแต่ละพื้นที่ในช่วงเดือนเม.ย. 2566 ที่ผ่านมา บริเวณประเทศสเปนมีปริมาณฝนตกอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่นเดียวกับฝรั่งเศสทางตอนใต้

โปรตุเกส 6 เขื่อนใหญ่ปริมาณน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย

สถานการณ์ในโปรตุเกสในขณะนี้ มีรายงานว่า พื้นที่เกือบ 90% กำลังเผชิญปัญหาจากภัยแล้ง โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศที่ในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นควบคู่กับภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น

โดยพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2566 เกือบ 2 เท่า และแห้งแล้งมากกว่าปี 2565 ถึง 5 เท่า และยังเผชิญสภาพอากาศร้อนรุนแรง ซึ่งในเดือนเมษายน 2566 นี้ ระดับภัยแล้งอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในรอบ 92 ปี

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในคาตาโลเนียและอันดาลูเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งรุนแรง มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ราว 25% ของระดับกักเก็บเท่านั้น

ทางด้านของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของโปรตุเกส ได้ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการเกษตร และแหล่งกักเก็บน้ำของประเทศ ทำให้ทางรัฐบาลจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือไปยังคณะกรรมมาธิการสหภาพยุโรป เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ

ส่วนรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของโปรตุเกตออกมายอมรับว่า รัฐบาลอาจจะต้องออกข้อกำหนด หรือมาตรการในการจำกัดการใช้น้ำ หากสถานการณ์ภัยแล้งนี้แย่ลง ไม่มีฝนตกเพิ่มเติม ซึ่งมาตรการจำกัดการใช้น้ำคาดว่า จะมีบังคับใช้ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ  Algarve, Évora, Beja และ Setúbal

ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณทางตอนใต้ของโปรตุเกส์ ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
(ภาพ – European Union, Copernicus Sentinel-X imagery)

ราคาพืชผลแพงขึ้น ขาดแคลนมากขึ้น

จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้ตามเป้าหมาย เช่น ผลผลิตมะกอกในประเทศสเปน ที่นับเป็นปริมาณมะกอกครึ่งหนึ่งของสหภาพยุโรป รวมถึงผลไม้ตามฤดูกาลอีกราว 1 ใน 3 อีกด้วย

ผลจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตมะกอกและผลไม้จากสเปนต่ำกว่าที่ควร ในบางพื้นที่ผลผลิตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 80% ส่งผลกระทบให้ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรในยุโรปมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด


ข้อมูล – https://edo.jrc.ec.europa.eu/edov2/php/index.php?id=1051


ข่าวที่เกี่ยวข้อง