- ส่องตัวเลข 5 เจเนเรชัน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 2566
- เปิดงบ 3 พรรคการเมืองใหญ่ ชู “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ทะลุแสนล้าน
- เจาะรายละเอียดพรรคการเมือง เพิ่มเบี้ยสูงอายุ – สวัสดิการครองใจสูงวัย
พรรคการเมืองประชันนโยบายเพิ่มเบี้ยสูงอายุ “ทุ่มหลายแสนล้าน” ครองใจสูงวัย เมื่อกลุ่ม 40 – 75 ปีขึ้นไป ถือคะแนนเสียงมากที่สุด
Follow Up – กระแสเลือกตั้ง 2566 ช่วงโค้งสุดท้าย ร้อนแรงขึ้นทุกขณะ ไม่เพียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวอย่างมาก กับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ท่ามกลางการวิเคราะห์จากหลายฝ่าย ที่มองว่ากลุ่มวัยรุ่นเจนอาจนำมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทิศทางการเมืองไทย จากสภาพแวดล้อมและมุมมอง ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 2566 รวมทั่วทั้งประเทศ 52,241,808 คน จะพบว่ากลุ่มผู้ใหญ่อายุ 40 ขึ้นไป จนถึงกลุ่มสูงวัย 75 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีสัดส่วนมากถึง 23,848,057 คน ซึ่งมากกว่ากลุ่มเยาวชน 18 ปีขึ้นไป และช่วงวัย 20-39 ปี ที่มีสัดส่วนรวมกัน 19,077,077 คน
หากแยกตามเจนเนอเรชัน ตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะแบ่งออกเป็น 5 เจน ประกอบด้วย
เจน Z : หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี 2547 ถึงก่อนวันที่ 16 พ.ค.2548 หรือผู้ที่มีอายุ 18 ปี จำนวน 1,093,722 คน
เจน Y : ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2527- 2546 มีอายุ 20-39 มีจำนวน 17,983,355 คน
เจน X : ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2506 – 2526 มีอายุ 40-60 มีจำนวน 20,882,235 คน
เบบี้บูมเมอร์ : ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2491 – 2505 ช่วงอายุ 61 -75 มีจำนวน 9,326,314 คน
บีฟอร์เบบี้บูมเมอร์ : ผู้ที่เกิดก่อนปี 2491 ที่อายุมากกว่า 75 ปี มีจำนวน 2,956,182 คน
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหตุใดการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทุกพรรคการเมืองต่างมุ่งเน้นไปที่นโยบายหาเสียง โดยการชู “สวัสดิการผู้สูงอายุ” ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะนโยบาย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 600 – 1,000 บาท ขึ้นไปสูง 3,000 – 5,000 บาท รวมถึงการเพิ่มการดูแลในด้านต่าง ๆ เพื่อหวังครองฐานคะแนนเสียงกลุ่มสูงวัย
จากการวิเคราะห์จากเอกสารพรรคการเมือง ที่ยื่นเสนอต่อ กกต. ถึงต้นทุนทางการเงินของนโยบายและที่มาของเงิน โดย ทีดีอาร์ไอ พบว่า 3 พรรคใหญ่ที่มีนโยบายสวัสดิการและเบี้ยสูงอายุสูงที่สุด คือ อันดับ 1 “พรรคก้าวไกล” วงเงิน 500,000 ล้านบาท อันดับ 2 “พรรคพลังประชารัฐ” วงเงิน 495,658 ล้านบาท และอันดับ 3 “พรรคเพื่อไทย” วงเงิน 300,000 ล้าน
หากแยกรายละเอียดรายพรรคใหญ่ ดังนี้
พรรคก้าวไกล : มีนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570 / เพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทันที / สมทบเงินจากเงินผู้สูงวัยเข้าสู่กองทุนดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ คนพิการที่ติดบ้านติดเตียง 9,000 บาท/คน/เดือน
พรรคพลังประชารัฐ : มีนโยบาย 3 ข้อ ได้แก่ ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในบัตรผู้สูงอายุแบบขั้นบันได อายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะได้รับเบี้ย 3,000 บาท/เดือน / อายุ 70 ปีขึ้นไปจะได้รับ 4,000 บาท/เดือน อายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท/เดือน
พรรคเพื่อไทย : ปรับปรุงสวัสดิการผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ / เพิ่มประสิทธิภาพของ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ใช้บริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว โดยไม่เสียค่ามีค่าใช้จ่าย
พรรคไทยสร้างไทย : เพิ่มเบี้ยคนชรา 3,000 บาท/เดือน และจ่ายบำนาญประชาชน 3,000 บาท/เดือน
พรรคภูมิใจไทย : จะจัดตั้งกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป / มีสิทธิกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพและหาเลี้ยงตัวเองได้ในวงเงิน 20,000 บาท / เสียชีวิตได้รับเงินจากกองทุนประกันชีวิตรายละ 100,000 บาท
พรรคประชาธิปัตย์ : ขยายอายุเกษียณมากกว่า 60 ปี เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานเลี้ยงชีพตัวเองได้ / ตั้งชมรมผู้สูงอายุ พร้อมให้เงินอุดหนุน 30,000 บาททุกหมู่บ้าน
พรรคชาติพัฒนากล้า : สนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อจ้างงานผู้สูงอายุ จำนวน 500,000 ตำแหน่ง อนุมัติกองทุน 50,000 บาทต่อครัวเรือน
พรรคเสรีรวมไทย : จ่ายบำนาญประชาชนที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่มีรายได้คนละ 3,000 บาท/เดือน ขยายอายุเกษียณข้าราชการเป็น 65 ปี