โค้งสุดท้าย “เลือกตั้ง 66” สสส. สานพลัง มูลนิธิอารยสถาปัตย์ เชิญ 10 พรรคการเมือง ประชันนโยบายคนพิการ – ผู้สูงอายุ ชูวิสัยทัศน์ออกแบบเพื่อทุกคน ลดข้อจำกัด ขจัดความเสี่ยง-ความเหลื่อมล้ำ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วันที่ 4 พ.ค 2566 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม รองรับสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Tourism for All) มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยชนะ พรรครวมพลัง พรรคเปลี่ยน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ปี 2565 ไทยมีคนพิการ 2.1 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน พบปัญหาการใช้ชีวิตในบ้าน และพื้นที่สาธารณะของผู้ใช้รถเข็น คนพิการทางการเห็น โดยผู้สูงอายุ ร้อยละ 30 หกล้มทุกปี สาเหตุเกิดจากการลื่น สะดุดล้มบันได หรือก้าวพลาดบนพื้น นำไปสู่การบาดเจ็บ ภาวะติดเตียง จนถึงเสียชีวิต เรียกได้ว่า “ล้ม 1 คน เจ็บทั้งบ้าน” สสส. ขับเคลื่อนสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ตามแนวคิด Universal Design โดยการพัฒนาชุดความรู้เรื่องการปรับปรุงที่พักอาศัย ตั้งศูนย์การออกแบบเพื่อทุกคนในมหาวิทยาลัย 12 ศูนย์ทั่วประเทศ มีผู้ได้รับคำปรึกษา 68,475 คน สนับสนุนเครือข่ายขนส่งมวลชนพึ่งได้ สื่อสารสร้างความตระหนักรู้ เกิดฑูตอารยสถาปัตย์ และอาสาสมัครรวม 300 คนเพื่อรณรงค์ พัฒนาฐานข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวก “เมืองใจดี” และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย “เมืองที่ไม่ทิ้งใคร”
“นโยบายการจัดสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เวทีนี้จะเป็นแนวทางไปสู่การออกแบบนโยบาย ขับเคลื่อนให้สังคมไทยมีสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวก ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง สสส. ขอร่วมผลักดันให้ทุกพื้นที่ มีความปลอดภัยและเท่าเทียม เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางภรณี กล่าว
นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวว่า เวทีแสดงวิสัยทัศน์ ครั้งนี้ ได้สะท้อนวิธีคิดของอนาคตพรรคการเมืองที่จะมาบริหารประเทศ ให้คำนึงถึงความยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจากสภาพแวดล้อม ด้วยการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาและรองรับสังคมผู้สูงวัย สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย และธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมต่อประชาชนทุกกลุ่มวัย อย่างชัดเจนและยั่งยืน