KEY :
- คณะนักวิจัยสหรัฐฯ ได้พัฒนาระบบ AI ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถพูดจาสื่อสารออกมาได้
- ระบบดังกล่าวสามารถแปลกิจกรรมสมองของมนุษย์ ทั้งขณะที่รับฟังเรื่องราวหรือจินตนาการว่ากำลังเล่าเรื่องอยู่อย่างเงียบ ๆ ให้ออกมาเป็นข้อความ
- ผู้ทดลองไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายเพื่อใช้งานระบบนี้ ทำให้กระบวนการทั้งหมดไม่รุกล้ำร่างกาย
…
การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ นูโรไซแอนซ์ (Nature Neuroscience) เมื่อวันจันทร์ (1 พ.ค.) ระบุว่าคณะนักวิจัยสหรัฐฯ ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ ซึ่งอาจช่วยเหลือผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แต่ไม่สามารถพูดจาสื่อสารออกมาได้ เช่น ผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
ระบบถอดความหมาย หรือที่เรียกว่าซีแมนติก ดีโคดเดอร์ (semantic decoder) สามารถแปลกิจกรรมสมองของมนุษย์ ทั้งขณะที่รับฟังเรื่องราวหรือจินตนาการว่ากำลังเล่าเรื่องอยู่อย่างเงียบๆ ให้ออกมาเป็นข้อความต่อเนื่อง
ผู้ทดลองไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายเพื่อใช้งานระบบนี้ ทำให้กระบวนการทั้งหมดไม่รุกล้ำร่างกาย ซึ่งแตกต่างจากระบบการถอดรหัสทางภาษาอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
ระบบดังกล่าว ซึ่งพัฒนาโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน (UT Austin) สามารถสร้างคำพูดใหม่ที่ไม่ใช่แบบคำต่อคำ แต่สามารถกู้คืน “ส่วนสำคัญ” ของสิ่งที่ผู้ใช้กำลังได้ยินด้วย
อเล็กซ์ ฮูธ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาและวิทยาการคอมพิวเตอร์ประจำมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าระบบถอดความหมายดังกล่าวถือเป็นความคืบหน้าสำคัญสำหรับวิธีการที่ไม่รุกล้ำร่างกาย มันต่างจากระบบที่เคยมีมาซึ่งโดยปกติแล้วมักถอดคำพูดออกมาเป็นคำ ๆ เดียวหรือประโยคขนาดสั้น พร้อมเสริมว่าเรากำลังจะใช้โมเดลนี้ถอดรหัสทางภาษาแบบต่อเนื่องภายใต้กรอบเวลานานกว่าเดิม และประกอบด้วยแนวคิดที่สลับซับซ้อน
ที่มา – ซินหัว