คัดลอก URL แล้ว
ซูเปอร์โพลชี้ก้าวไกลความนิยมนำลิ่วทิ้งห่างเพื่อไทย

ซูเปอร์โพลชี้ก้าวไกลความนิยมนำลิ่วทิ้งห่างเพื่อไทย

มีสะเทือน ! ซูเปอร์โพล ชี้ “ก้าวไกล”ความนิยมนำลิ่ว ทิ้งห่าง “เพื่อไทย” ฟันธง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์”นำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง เขื่อพรรคสองลุงหดเสียงไม่ถึง 10%

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง “โพล เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 5 : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค)” กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไปใน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 53,094,778 คนทั่วประเทศด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ (Net Assessment) จำนวนตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ 8,065 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19 – 22 เมษายน พ.ศ.2566 โดยเมื่อพิจารณาความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนเปรียบเทียบผลการศึกษาในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว กับ ผลการศึกษาครั้งล่าสุด พบว่า ผลการศึกษาสัปดาห์นี้ไม่พบความแตกต่างไปจากผลการศึกษาครั้งก่อนในเรื่องความตั้งใจจะไปเลือกตั้งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ที่พบในผลการศึกษาครั้งก่อนจะไปเลือกตั้งและส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.8 ในผลการศึกษาครั้งนี้จะไปเลือกตั้งเช่นกัน

รายงานของซูเปอร์โพล เคยระบุเชิงเปรียบเทียบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองต่าง ๆ เสมือนปลาในบ่อเลี้ยงสามบ่อ บ่อแรกคือ บ่อของฝูงปลานิยมพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล บ่อที่สองคือ บ่อของปลานิยม พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ และบ่อที่สามคือ บ่ออื่น ๆ รวมถึงพลังเงียบ ผลการศึกษาครั้งนี้ พบประเด็นที่น่าสนใจคือ
พรรคก้าวไกลได้รับความนิยมพุ่งขึ้นอันดับหนึ่งจาก ร้อยละ 6.7 ในการศึกษาปลายเดือนมีนาคม ขึ้นมาเป็นร้อยละ 24.4 ในการศึกษาล่าสุดเดือนเมษายน แต่พรรคเพื่อไทยลดลงจากร้อยละ 29.1 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ตกมาอยู่ที่ร้อยละ 11.2 ในการศึกษาล่าสุดเดือนเมษายน น่าจะชี้ให้เห็นได้ในมุมหนึ่งว่า ปลาไม่กระโดดข้ามบ่อ สิ่งที่พบคือ ความนิยมเพิ่มที่พรรคก้าวไกล ความนิยมลดลงจากพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.5 ในการศึกษาปลายเดือนมีนาคม ขึ้นมาเป็นร้อยละ 23.9 ในการศึกษาล่าสุด ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พุ่งขึ้นมาจ่อความนิยมของประชาชนต่อพรรคภูมิใจไทยในการศึกษาครั้งนี้จากร้อยละ 14.2 ในการศึกษาปลายเดือนมีนาคม ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 23.6 ในการศึกษาล่าสุด แต่ที่น่าพิจารณาคือ ความนิยมของประชาชนต่อ พรรคพลังประชารัฐลดลงจากร้อยละ 10.9 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 และพรรครวมไทยสร้างชาติลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 9.3 มาอยู่ที่ ร้อยละ 3.7 แสดงให้เห็นว่า ปลาไม่กระโดดข้ามบ่อ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของผู้นิยมพรรคร่วมรัฐบาลยังสูงกว่าสัดส่วนของผู้นิยมพรรคร่วมฝ่ายค้านและอื่น ๆ คือร้อยละ 59.8 ต่อร้อยละ 40.2
 
 
 เมื่อสอบถามถึงพรรคการเมืองที่ต้องการเห็นร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 34.0 ระบุ ภูมิใจไทย กับ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และอื่น ๆ รองลงมาคือ ร้อยละ 29.4 ระบุ พรรคก้าวไกล กับ เพื่อไทย และอื่น ๆ ร้อยละ 13.4 ระบุ ภูมิใจไทย กับ เพื่อไทย และอื่น ๆ และร้อยละ 5.6 ระบุ พรรคเพื่อไทย กับ พลังประชารัฐ และอื่น ๆ ตามลำดับ
การยุบพรรคอาจเกิดขึ้นได้ แต่แลนด์สไลด์จะตามมา เพราะโดนใจและสะใจ

รายงานของซูเปอร์โพล ระบุด้วยว่า เมื่อ ปลาไม่โดดข้ามบ่อ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลบางพรรคอาจใช้เครือข่ายอำนาจในมือเปลี่ยนเกมโดยมุ่งโจมตียุบพรรคในบ่อปลาเดียวกัน เพื่อให้ฝูงปลาที่ไม่โดดข้ามบ่อมาเลือกพรรคที่เหลืออยู่ มุ่งเป็นรัฐบาลและได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ตั้งไว้ ถ้าทำลายกันเองในพรรคร่วมรัฐบาลเกิดขึ้นจริง ผลที่อาจเกิดขึ้นได้ตามมาคือ ฝูงปลาอาจถูกบังคับให้กระโดดข้ามบ่อไปสู่แลนด์สไลด์โดยพรรคก้าวไกล ถึงขั้นปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะพรรคก้าวไกลกำลังทำอะไรที่โดนใจและสะใจ ก็เป็นไปได้ในทางสถิติ และอะไรจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการเปลี่ยนประเทศไทย ค่อยว่ากัน

แต่ถ้าไม่มีใครเปลี่ยนเกมและไม่เกิดการโกงการเลือกตั้ง ปล่อยให้เป็นไปตามความนิยมศรัทธาของประชาชนที่อิสระและการรณรงค์เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปลอดการแทรกแซงเบี่ยงเบนเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนด้วยการเปลี่ยนเกมแย่งชิงอำนาจนี้ พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลในเวลานี้น่าจะเห็นความโดดเด่นเปลี่ยนผ่านมาอยู่ที่ พรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ โดยมีฐานสนับสนุนจากพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐเป็นกำลังสำคัญให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อได้.