คัดลอก URL แล้ว
รู้วิธีแก้ไข!  ‘พรหมินทร์’ เปิด 3 เหตุทำบิลค่าไฟพุ่งเท่าตัว  มั่นใจรัฐบาลเพื่อไทยทำได้

รู้วิธีแก้ไข!  ‘พรหมินทร์’ เปิด 3 เหตุทำบิลค่าไฟพุ่งเท่าตัว  มั่นใจรัฐบาลเพื่อไทยทำได้

วันนี้ (20เมษายน 2566) นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช​ ประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย  นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ​​กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย  ร่วมแถลงข่าวการตั้งข้อสังเกตุถึงสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นผิดปกติ

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช​ ประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  ประชาชนประสบปัญหาค่าไฟแพง ซึ่งเกิดจากการวางแผนที่ไม่ตระหนักว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบ และเป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมากที่พรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพิ่งคิดออก คิดได้อย่างน่าตกใจ ทั้งที่นั่งอยู่ในตำแหน่งมาตั้ง 8 ปี  แต่ประชาชนมีความเฉลียวฉลาดพอว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้   ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยได้เปิดตัวนโยบาย ‘ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ลดราคาทันที’ มาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพราะเรามองเห็นปัญหา และรู้วิธีการแก้ไข จนในวันนี้พบว่า ปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น เกิดจากสาเหตุนี้

1.ระบบการคิดในโครงสร้างพลังงาน เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นการส่งผ่านไปให้ประชาชนเท่านั้น (Cost pass-through) โยนให้ประชาชนรับ ไม่ได้คิดถึงประสิทธิภาพในการบริหาร

2.ค่าพร้อมจ่าย  โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องใช้จริง 54% ในขณะที่ความต้องการใช้จริง อยู่ที่ 15%

โดย 15% ดังกล่าวมาจากการที่ปกติทุกปีจะมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด ที่ต้องหยุดการผลิต 1 เดือนในแต่ละปี จะเปิดกำลังการผลิตเต็มที่  จะมีไฟฟ้าสำรอง แต่ขณะนี้ไฟฟ้าเกิน 54%  ซึ่งค่าพร้อมจ่ายนี้  ผูกพันกับข้อสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งนายแพทย์พรมินทร์ ยอมรับว่าไม่ง่าย  แต่รัฐต้องผ่อนปรน หาวิธีการจัดการ ซึ่งมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยมีศักยภาพที่สามารถทำได้

3.โครงสร้างการบริหารค่าไฟฟ้า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าผลิตอยู่ 60% สายไฟฟ้า 25% รวมแล้วเป็น 85% ที่เหลือสำหรับสำรองอีกประมาณ 15 % ซึ่งเป็นโครงสร้างปกติ หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะกระจายออกไปให้ใกล้กับความต้องการ เราสามารถประหยัดในส่วนของ 25% นั้นออกไปได้ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และอื่นๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้ 

ส่วนในระยะยาวแหล่งก๊าซธรรมชาติของคนไทย ต้องใช้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมาปล่อยให้การลงทุนชะงักไป 3 ปี และเพิ่งเริ่มการลงทุนใหม่ด้วยเหตุผลทางการบริหาร เมื่อครั้งที่นายแพทย์พรมินทร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก่อนปี 2548 ได้อยู่ในระหว่างการเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA)  ผ่านมา 20 ปี  ยังไม่บรรลุข้อตกลง  หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะเร่งดำเนินการเจรจาให้แล้วเสร็จ และจะจัดหาแหล่งก๊าซร่วมกับกัมพูชาเพิ่มเติม เพื่อลดค่าใช้จ่ายประชาชนลงให้ได้

ขณะที่ราคาน้ำมันแพง เกิดจากโครงสร้างราคาน้ำมันที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นโครงสร้างที่ใช้มาตั้งแต่ที่ประเทศไทยเปิดให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นไทยออยล์ โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศ โดยในขณะนั้นการบวกค่าขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว จึงสามารถดึงค่าขนส่งออกได้ และภาษีสรรพสามิตและภาษีกองทุนน้ำมัน ต้องปรับลดลงให้เหมาะสมและแปรผันตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ  มั่นใจหากพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล จากการบริหารจัดการ น้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ราคาแก๊สหุงต้ม ปัจจุบันมีการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม  เพราะมีการนำเข้าแก๊สจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพง  แล้วใช้เงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยแก๊สที่นำเข้า จนกองทุนน้ำมันติดลบไปกว่า  89,800  ล้านบาท  ทั้งที่ในอ่าวไทยมีแก๊ส  แต่ส่งให้โรงงานปิโตรเคมี  หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราบริหารจัดการ โดย นำเอาแก๊สราคาถูกที่ผลิตในประเทศ  กับแก๊สราคาแพงจากการนำเข้า  มาถัวเฉลี่ยกัน  เพื่อให้เกิดราคาที่เหมาะสมต่อพี่น้องประชาชน  และเพื่อให้การใช้เงินกองทุนน้ำมันเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม

ทั้งนี้ในปัจจุบัน รัฐบาลบริหารจัดการกองทุนน้ำมันติดลบอยู่ที่ 89,800  ล้านบาท  โดยพบว่านำเงินกองทุนน้ำมัน ไปใช้ในการชดเชยราคาน้ำมัน 42,921 ล้านบาท  ชดเชยราคาแก๊สหุงต้ม 46,879 ล้านบาท  ซึ่งพบว่าชดเชยแก๊สหุงต้มมากว่า 

“เราคือผู้ที่เข้าใจและตระหนักในเรื่องนี้ก่อน เพราะทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ และจะเจรจากับประเทศต่างๆ ได้ ภายใต้ปรัชญาสำคัญ ของเราสำหรับประชาชน คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส  พรรคเพื่อไทยตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี  ยืนยันจากนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เปิดตัวในช่วงปลายปีที่แล้ว วันนี้ถึงเวลาแล้วจริงๆ  เราคิดเป็น คิดใหญ่ และทำได้จริง” นายแพทย์พรหมินทร์ กล่าว

นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ​​กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า จากกระแสข่าวที่ไฟฟ้าแพงเพราะมีการอ้างอิงที่สมัยที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เซนต์สัญญาเพิ่มกิโลวัตถ์ ซึ่งหากย้อนไปช่วงนั้นพบว่า GDP ประเทศไทยเติบโตประมาณ 7% ดังนั้นการมีกิโลวัตถ์ไฟฟ้าที่เหลือ เพื่อการรองรับเศรษฐกิจที่โตขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม  แต่ 8 ปีที่ผ่านมา GDP ไทยโตต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ จากการบริหารของรัฐบาลนี้ หากจะใช้ข้ออ้างว่าต้องมีส่วนเพิ่มเติมตามขีดความสามารถของเศรษฐกิจ ( Access capacity ) ให้มากกว่า 54%  ถือว่าไม่ค่อยเหมาะสม อีกทั้ง คสช.ทำรัฐประหาร มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชุดใหม่ และไม่มีการเปิดประมูลให้ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระเข้ามาอีก  และไม่มีการเจรจากับภาคเอกชน  ทั้งที่การใช้พลังงานของประเทศลดลง  ดังนั้นจึงต้องเข้าไปเจรจากับโรงไฟฟ้าเพื่อปรับลดการผลิตไฟฟ้าโดยทำอย่างเป็นธรรม

ในขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 กำลังระบาดมีการปิดโรงไฟฟ้า 7-9 โรง แต่โรงไฟฟ้าเหล่านั้นยังได้รับรายได้เหมือนเดิม อีกทั้ง 6 เดือนก่อนยุบสภามีการเจรจาซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีก 3 แหล่งเพิ่มมาอีก ประมาณ 1,000 กิโลวัตถ์ และมีการทำสัญญาอนุมัติที่เขื่อนหลวงพระบางอีก 35 ปี ซึ่งเปรียบเสมือนการล็อคตัวเองไว้กับค่าใช้จ่ายซึ่งปกติต้องมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้

“ข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำให้ค่าไฟแพงที่เกิดขึ้น  จึงไม่เป็นความจริง และเกิดจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพและวิสัยทัศน์ที่ไม่ชัดเจนมากกว่า  ที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน” นายศึกษิษฏ์ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง