“สังคมไทยกำลังต้องการการกระจายอำนาจอย่างมาก เราพบว่า 9 ปีมานี้ การกระจายอำนาจของประเทศไทยถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี คำถามคือปัญหาคืออะไรและเราจะต้องแก้อย่างไร”
ส่วนหนึ่งจากการเสวนาของ จาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในงานสัมมนาหัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองอื่นรวม 8 พรรค ที่โรงแรมไฮเอท รีเจนซี่ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566
จาตุรนต์ ฉายแสง เริ่มต้นกล่าวว่า การพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ก็คือการพูดวางบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นว่าจะวางบทบาทอย่างไรให้เหมาะสม เพราะโลกปัจจุบันมีเรื่องใหญ่มากๆ ที่รัฐบาลต้องทำ ซึ่งมีทั้งทำไม่ทัน และทำทันแต่ทำได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องมายืนบนหลักการให้ได้ว่า รัฐบาลหรือส่วนกลาง จะต้องไม่ไปแย่งงานท้องถิ่นหรือไปทำงานแทนท้องถิ่น
ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดคือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกำลังดำเนินเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปอีกไม่นาน ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ซึ่งการยึดอำนาจทุกครั้งทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พูดไม่ได้ขยับไม่ไป พูดไม่ดีถูกปลดถูกจับติดคุก
[ปัญหาของการกระจายอำนาจที่ผ่านมา]
ภายหลังการยึดอำนาจมา 9 ปี แต่การกระจายอำนาจประเทศไทยถอยหลังไป 25 ปี คำถามคือ ปัญหาคืออะไรและแก้ไขอย่างไร
1.การกำกับควบคุม
พบว่า มีการกำกับควบคุมจากส่วนกลางเต็มไปหมด โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ซึ่งคำสั่งของ คสช.ครอบท้องถิ่นไปจนถึงแม้แต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เขาขาดคนแต่ไม่แต่งตั้งคนทำงานให้ ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายความจริงต้องทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น สามารถที่จะดูว่าจะได้บุคลากรอย่างไรสอดคล้องกับท้องถิ่น และทำให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเขามีที่จะไปได้ทั่วประเทศ เรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีความสมดุล
2.เรื่องงาน และการถ่ายโอนภารกิจ
งานที่ท้องถิ่นต้องทำมีทั้งเรื่อง Reskill-Upskill เรื่องต่างๆเหล่านี้ที่เป็นสมัยใหม่ หรือส่งเสริมนวัตกรรมฝึกอาชีพ ซึ่งถ้าทำกันจริงๆ สตง.ก็จะบอกว่าทำไม่ได้ เพราะคณะกรรมการกระจายอำนาจไม่ได้แบ่งหน้าที่ไว้ให้เขา เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องทำให้มันเกิดความชัดเจน
เมืองสมัยใหม่ต้องการการพัฒนา ทางพรรคเพื่อไทยก็คิดว่าจังหวัดไหนต้องการจังหวัดจัดการตนเอง เราจะส่งเสริมจังหวัดที่มีความพร้อมมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องประมาณ 4-5 จังหวัด ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาลตำบล
3. เรื่องเงินรายได้
9 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้เงินจากงบประมาณไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่จัดรายได้ให้สอดคล้องกับภารกิจ มีแต่งาน แต่ไม่มีงบประมาณจ่ายมา และกลายเป็นท้องถิ่นไม่ได้ทำในสิ่งที่ท้องถิ่นหรือประชาชนต้องการ ทำได้แต่งานที่ส่วนกลางหรือรัฐบาลฝากทำ และที่หนักสุดคือ งบท้องถิ่น ท้องถิ่นควรได้เป็นคนพิจารณา แต่กลับเอาไปให้สภาผู้แทนพิจารณาแทน ซึ่งผิดหน้าที่ ดังนั้น ต้องเพิ่มงบท้องถิ่นให้ร้อยละ 35 ภายใน 2 ปีงบประมาณ และยกเลิกงานฝากจากส่วนกลางออกไปจากบัญชีท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ตัวเองไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้
[แนวทางแก้ไข]
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างที่จะต้อง
1.ยกเครื่องคณะกรรมการกระจายอำนาจเพื่อให้จัดแบ่งหน้าที่ จัดแบ่งเงินงบประมาณต่างๆกันใหม่ เรื่องบุคลากรดูแลใหม่
2.ขั้นต่อไปคือแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ไปกดทับอยู่ หรืออาจจะต้องออกกฎหมายใหม่ร่วมด้วย และ
3.สุดท้ายก็คือข้างหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาเรื่องท้องถิ่นกลับมาอยู่ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ท้องถิ่นมีสถานะกลับมาเหมือนเดิม