คัดลอก URL แล้ว
ดร.พิสิฐ ชื่นชม สสส. องค์กรธรรมาภิบาล สร้างกลไกนวัตกรรมการเงินการคลัง เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน นำสังคมไทยไปสู่สุขภาวะ

ดร.พิสิฐ ชื่นชม สสส. องค์กรธรรมาภิบาล สร้างกลไกนวัตกรรมการเงินการคลัง เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน นำสังคมไทยไปสู่สุขภาวะ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (Southeast Asia Tobacco Control Alliance – SEATCA) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ” (Fellowship : Innovative Financing For Health Promotion) โดย สสส. จัดตั้งจากงบประมาณการจัดเก็บส่วนเพิ่มในอัตรา 2% ของภาษีสรรพสามิตยาสูบ และสุรา ซึ่งฝ่ายการเมืองมีบทบาทสำคัญ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน พรบ.สสส. กล่าวในการประชุมว่า นับเป็นการออกกฎหมายให้จัดเก็บเงินเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้านการสร้างเสริมสุขภาพเป็นครั้งแรกของไทย และเอเชีย ในการสร้างกลไกจัดสรรงบประมาณของภาครัฐที่ถูกออกแบบให้ประเทศไทยมีงบประมาณ เพื่อการลงทุนด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

“ฝ่ายการเมืองมีบทบาทสำคัญในการเปิดประตูแห่งโอกาสโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมีอุดมการณ์ส่วนตัวเรื่องการต่อต้านอบายมุข และสิ่งเสพติดต่าง ๆ โดยสนับสนุนตั้งแต่เรื่องการรณรงค์ควบคุมการสูบบุหรี่ การขึ้นภาษีบุหรี่ สนับสนุนมีการรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคสุรา และยาสูบ เพื่อลดผลกระทบทางสังคมต่อการเปิดเสรีการค้าบุหรี่ในปี 2532 และ เปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุรา ในปี 2541 ที่นำมาสู่การจัดตั้ง สสส. เป็นผลสำเร็จตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ในที่สุด” ดร.พิสิฐ กล่าว

ดร.พิสิฐ กล่าวต่อว่า ตนเองมีพื้นฐานเป็นนักวิชาการ จึงให้ความสนใจกับความรู้ใหม่-แนวทางใหม่เรื่องนโยบายการเงินการคลัง ทั้งนี้ การผูกพันภาษีบาปกับองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ แม้ว่าไทยจะไม่เคยจัดตั้งกลไกลลักษณะนี้ แต่สามารถทำได้ หากเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสร้างประโยชน์เชิงประจักษ์ต่อสังคมได้ สสส. ถูกออกแบบให้มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี ผ่านคณะกรรมการกองทุนฯ เอื้อให้ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในรูปแบบใหม่ ตามกฎบัตรออตตาวาด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนขบวนการสร้างเสริมสุขภาพในไทย ทำงานสนับสนุน และร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมหาวิทยาลัย และชุมชนท้องถิ่น ผ่านยุทธศาสตร์ไตรพลัง ที่ประกอบด้วย พลังปัญญา พลังสังคม และพลังนโยบาย เพื่อนำสังคมไทยไปสู่สุขภาวะ  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง