คัดลอก URL แล้ว
การรถไฟฯ ชี้แจงกรณี การเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

การรถไฟฯ ชี้แจงกรณี การเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ตามที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าไปรื้อถอนอาคารบ้านเรือนบริเวณหมู่บ้านประชาสุข 6 จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเวนคืนสร้างรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา-ดอนเมือง ระยะทาง 166 กิโลเมตร มีการออกแบบให้มีพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในเขตรถไฟเดิม เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินต่อประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่โดยรอบ

อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ มีเหตุจำเป็นในการประกาศพระราชกฤษฎีกา การรถไฟฯ ทำการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมทั้งหมด 11 จุด ระยะทางประมาณ 35 เมตร เนื้อที่ 919 ไร่ มีสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด 403 หลัง ซึ่งปัจจุบัน ได้ทำการรื้อถอนตามสัญญาเวนคืนฯ แล้ว 395 หลัง ยังเหลืออาคารของประชาชนและบริษัทนิติบุคคลที่ยังไม่รื้อถอนที่อยู่ในหมู่บ้านประชาสุข 6 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จำนวน 8 หลัง

และเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาการรถไฟฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและเงินค่าทดแทนเพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 โดยมีนายอำเภอเมืองฉะเชิงเทราเป็นประธานกรรมการ มีผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดกระบัง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 6 ตำบล และเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ทำหน้าที่ร่วมกันพิจารณาราคาค่าที่ดิน รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เหมาะสม พร้อมกับคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และความพึงพอใจของประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ทำให้ประชาชนเจ้าของที่พักอาศัย และบริษัทนิติบุคคล บริเวณหมู่บ้านประชาสุข 6 จ.ฉะเชิงเทราดังกล่าว ได้ตกลง และยินยอมเข้ามาทำสัญญารับเงินค่าที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน ซึ่งเป็นการรับเงินค่าที่ดินซื้อทั้งแปลงไม่ใช่ซื้อแค่บางส่วน และค่าทดแทนเพิ่มเติมกรณีมีการพัฒนาพื้นที่ไปแล้วทุกราย 100% รับเงินค่าทดแทนโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ค่าทำสัญญา ค่าทดแทนไม้ยืนต้นและพืชผล เงินเพิ่มร้อยละสอง โดยทั้งหมดได้รับเงินไปแล้ว 75% ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา โดยได้ใช้วิธีคำนวณหลักเกณฑ์การถอดแบบก่อสร้าง ราคาค่าวัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ ค่าแรงในการก่อสร้างตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ ค่าแรงในการก่อสร้าง คำนวณจากมาตรฐานของกรมบัญชีกลาง

ที่สำคัญทั้ง 8 ราย ยังได้ดำเนินการโอนโฉนดที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 โดยจำนวนเงินทดแทนตามสัญญาที่การรถไฟฯ ได้จ่ายให้กับประชาชน และบริษัทนิติบุคคล อยู่ระหว่าง 3,080,461 – 4,489,729 บาทต่อราย

ดังนั้น การรถไฟฯ ขอยืนยันว่า การเข้ารื้อถอนอาคารดังกล่าว เป็นการเข้ารื้อถอนทรัพย์สินของการรถไฟฯ เองโดยชอบธรรม และก่อนที่จะเข้ามาทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออก ได้มีการแจ้งติดใบประกาศภายในหมู่บ้านมาก่อนหน้านี้ ตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562

นอกจากนี้ หากนับเวลาตั้งแต่วันที่มีการชำระเงินค่าเวนคืนให้กับชาวบ้านและบริษัทนิติบุคคล รวมทั้งการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อาคารสิ่งปลูกสร้างให้เป็นของการรถไฟฯ เรียบร้อยแล้วนั้น การรถไฟฯ ก็ให้เวลาในการรื้อย้ายเกือบ 10 เดือน ประกอบกับการรถไฟฯ ก็มีความจำเป็นที่ต้องเร่งส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน เร่งดำเนินการปรับสภาพเส้นทางรองรับการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินให้เป็นไปตามสัญญา ภายในกำหนดเดือนพฤษภาคม 2566

ท้ายนี้ขอย้ำว่า การรถไฟฯ ได้ดำเนินการโดยยึดหลักมนุษยธรรม ธรรมาภิบาล เพื่อความถูกต้อง โปร่งใส ตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ควบคู่กับประโยชน์ในการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง