KEY :
- นักวิจัยจีนค้นพบโครงกระดูกงูที่มีอายุเก่าแก่ถึง 6,000 ปี บริเวณแอ่งจั่วเจียงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน
- นักวิจัยจากสถาบันการอนุรักษ์และวิจัยโบราณคดีกว่างซี ได้ทำการขุดค้นในแอ่งจั่วเจียงระหว่างปี 2013-2015 และพบแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่หลายแห่ง
- สิ่งมีชีวิตดังกล่าวน่าจะมีความยาวอย่างน้อย 4.58 เมตร ซึ่งนับเป็นงูเหลือมโบราณขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบในจีน เทียบกับสถิติเดิมที่ 3.56 เมตร
…
คณะนักวิจัยจีน เปิดเผยการค้นพบโครงกระดูกงูที่มีอายุเก่าแก่ถึง 6,000 ปี บริเวณแอ่งจั่วเจียงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสารฮิสทอริคอล ไบโอโลจี (Historical Biology)
ทีมวิจัยที่นำโดยหยางชิงผิง นักวิจัยจากสถาบันการอนุรักษ์และวิจัยโบราณคดีกว่างซี (Guangxi Institute of Conservation and Archaeology Research) ได้ทำการขุดค้นในแอ่งจั่วเจียงระหว่างปี 2013-2015 และพบแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่หลายแห่ง
คณะนักวิจัยพบว่าซากฟอสซิลเหล่านี้เป็นของงูเหลือม งูจงอาง และงูสายพันธุ์อีลาฟี โมเอลเลนดอร์ฟฟี (elaphe moellendorffi) หลังจากวิเคราะห์ซากงูที่พบในแหล่งโบราณคดีเป่าเจี้ยนซานและแหล่งโบราณคดีต้าวาน
หลังทำการวัดชิ้นส่วนกระดูกสันหลังที่ใหญ่ที่สุดของงูเหลือมโบราณ คณะนักวิจัยระบุว่าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวน่าจะมีความยาวอย่างน้อย 4.58 เมตร ซึ่งนับเป็นงูเหลือมโบราณขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบในจีน เทียบกับสถิติเดิมที่ 3.56 เมตร
หยางระบุว่าบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่บริเวณแอ่งจั่วเจียงนั้นนิยมออกล่างูในยุคหินใหม่ เนื่องจากมีการค้นพบรอยไหม้ที่กระดูกงู ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้คนในบริเวณนี้เริ่มล่างูเมื่อ 6,000 ปีก่อน
ที่มา – ซินหัว