คัดลอก URL แล้ว
Kick Off “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” 2566 ดัน นโยบายแห่งชาติ สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็ก-เยาวชนทั่วประเทศ

Kick Off “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” 2566 ดัน นโยบายแห่งชาติ สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็ก-เยาวชนทั่วประเทศ

ช่วงเวลาปิดภาคเรียนหรือปิดเทอมของเด็กๆ ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข สนุกสนานที่น้องๆหนูๆ วัยเรียนรอคอย เนื่องจากจะได้หยุดเรียน และได้ทำกิจกรรมยามว่างที่ตนเองชื่นชอบ ทั้งการเล่นเกม การใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือการออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ แต่สำหรับในมุมของผู้ปกครองบางคน อาจจะสร้างความกังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะไม่มีเวลาหรือได้หยุดทำกิจกรรมร่วมกับลูก ทำให้เเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และกังวลว่าเด็กๆจะใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมอย่างไม่สร้างสรรค์ เมื่อไม่มีผู้ใหญ่ดูแล

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2565 มีเด็กเสียชีวิตราว 800 คน 1 ใน 3 เสียชีวิตช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม สาเหตการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กคือ “การจมน้ำ”ขณะที่ข้อมูลศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก พบว่าสนามเด็กเล่นในเมืองไทย เป็นสาเหตุทำให้เด็กบาดเจ็บ เพราะอุปกรณ์และโครงสร้างไม่ได้มาตรฐานมากถึง 34,000 คน/ปี

นอกจากนี้ยังพบข้อมูลจากหลายแหล่งที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์โควิด-19 ผลักเด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์เร็วขึ้น 2-3 ปี และใช้เวลาอยู่หน้าจอนานถึง 12 ชั่วโมง/วัน ขณะที่เด็ก ร้อยละ 44.36 ถูกกลั่นแกล้ง รังแกในโลกออนไลน์ (Cyber Bullying) ที่น่าเป็นห่วงคือข้อจำกัดเรื่องจำนวนและคุณภาพแหล่งเรียนรู้ ที่ทำให้เด็กไทยจำนวนมาก ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่หลากหลายประเภท ทั้งศูนย์ฝึกอาชีพ ห้องสมุด สนามกีฬา เพราะมีที่อยู่อาศัยห่างไกลจากสถานที่ตั้งเหล่านี้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลสถิติทั้งหมดนี้ สะท้อนว่าเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญภาวะเสี่ยงต่างๆ มากมาย ในช่วงวันหยุดและปิดภาคเรียนรวมกว่า 150 วัน/ปี สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 ปีนี้ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานเปิดตัวกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ประจำปี 2566 บนแพลตฟอร์ม happyschoolbreak.com ที่รวบรวมข้อมูล เชื่อมร้อยกิจกรรมมากมาย สำหรับเด็ก-เยาวชนให้มีความหลากหลาย เหมาะสมสำหรับช่วงวัยจากเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกิจกรรมง่ายขึ้น เพื่อต่อยอดพื้นที่ต่างๆ ให้มีสถานนะเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” โดยนำร่อง 4 ภูมิภาค 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา และยะลา มีหน่วยจัดการ ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ มีฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ มีกิจกรรมสร้างสรรค์รองรับเด็กและเยาวชนทั่วจังหวัด และมีอีก 25 จังหวัดเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนด้วย
แพลตฟอร์ม happyschoolbreak.com คือ นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่สร้างรายได้ช่วงปิดเทอมหรือวันว่าง มีงานพาร์ทไทม์หลังเลิกเรียนและวันหยุดให้ค้นหามากกว่า 1,000 ตำแหน่ง ดร.สุปรีดา ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้และในอนาคตจะมีภาคีเครือข่ายที่ร่วมผลักดัน สร้างกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์ ไม่น้อยกว่า 500 องค์กร รวม 5,000 กิจกรรม ให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนโดยตรงไม่น้อยกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ เพราะ สสส. มีเป้าหมายทำให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ได้มีโอกาส เข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ช่วงปิดเทอมและวันว่าง และจะขับเคลื่อนและยกระดับโครงการนี้ให้เป็นนโยบายแห่งชาติต่อไปให้มีกิจกรรมครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด

กรุงเทพมหานคร 1 ในจังหวัดนำร่อง มีสถานะเป็นอีกพื้นที่สำคัญในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ และร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมกับเยาวชนในหลายมิติ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีโอกาสร่วมกับทาง สสส. หลายกิจกรรม งานปิดเทอมสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” เป็นงานที่ กทม.ให้ความสำคัญอีกงาน เพราะช่วงนี้ตรงกับงานเทศกาลการอ่านและการเรียนรู้ของ กทม. ด้วยเช่นกัน ปลายเดือนนี้จะมีสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และก่อนจะถึงปลายเดือนก็จะมีงานที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานครในที่ต่าง ๆ ภายใต้ชื่องาน “อ่านผลิบาน” หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ากรุงเทพมหานครมีห้องสมุด ทั้งที่มีห้องสมุดหรือบ้านหนังสือที่กว่า 160 แห่ง นอกจากนี้ กทม. เตรียมพร้อมสมัครเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก้ การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกับ สสส. ซึ่งยังได้แนวความคิดมากมายจากหลายจังหวัดภาคี ที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดสำหรับกรุงเทพมหานครอีกด้วย

เช่นเดียวกับจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ประกาศเป้าหมายที่จะสมัครสมาชิก “เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ของยูเนสโก้ภายในปีนี้ โดยย้ำว่าจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน ขับเคลื่อนเทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้มต่อเนื่องเป็น 10 ปี โดย สสส. เป็นกำลังหลักที่ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ 105 พื้นที่ รวม 180 กิจกรรม เช่น การทำขนมสำหรับเด็ก ว่ายน้ำ ศิลปะ Cover Dance อีกทั้งร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หนุนเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต อยู่ระหว่างผลิตหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการประชาชนในพื้นที่ทุกช่วงวัย เรียนได้ตามความต้องการ ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถเก็บสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตได้

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ระบุว่าทางเทศบาลนครยะลา ให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กและเยาวชน สนับสนุนงานหลายด้าน ทั้งการศึกษา สร้างอาชีพ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พหุวัฒนธรรม ล่าสุด เทศบาลได้นำชุดของมุสลิมไปสู่เวทีโลก ด้วยการจัดแสดงในงาน “ลอนดอนแฟชั่นวีค” เปิดพื้นที่เรียนรู้หลายแห่ง หลายรูปแบบ รองรับเด็กและเยาวชนทั้งในเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียง สร้าง TK PARK 2 แห่ง ปัจจุบันกำลังสนับสนุนให้มี TK PARK ตั้งอยู่ 4 มุมเมืองในเทศบาลยะลา และคาดว่าจะสมัครเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก้ ภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” ณ ทำเนียบรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันทำให้ช่วงปิดเทอมของเด็กและเยาวชนเป็นช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้เพื่อตนเองและครอบครัว ขณะที่รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างหลายด้านเพื่อรองรับความก้าวหน้าของประเทศ พร้อมฝากเยาวชนให้ช่วยกันดูแลเพราะนี่คือประเทศไทยของเรา