คัดลอก URL แล้ว
‘รวมไทยสร้างชาติ’ คิกออฟแคมเปญหาเสียง ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ชู 5 นโยบาย

‘รวมไทยสร้างชาติ’ คิกออฟแคมเปญหาเสียง ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ชู 5 นโยบาย

‘รวมไทยสร้างชาติ’  ปูพรมหาเสียง “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” นำร่องชู 5 นโยบายโดนใจ แก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน เพิ่มสิทธิ ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ เป็น 1,000 บาท/เดือน และใช้สิทธิฉุกเฉินได้อีก 10,000 บาท  ตั้ง‘กองทุนฉุกเฉินประชาชน’ วงเงิน 30,000 ล้านบาท  คืน 30% เงินสะสมชราภาพ  แก้หนี้ด้วยโครงการ ‘ปลดหนี้ด้วยงาน’  พร้อมรื้อกฎหมายที่รังแกประชาชนและเป็นอุปสรรคการทำกิน  เตรียมเปิดนโยบายชุดใหญ่ต้นเดือนเมษายนนี้  มั่นใจทุกนโยบายทำได้แน่นอน 

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2566 ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยนโยบายหาเสียงภายใต้เคมเปญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ตามยุทธศาสตร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคว่า  นโยบายภายใต้เคมเปญนี้ถือเป็นความตั้งใจของพรรคที่จะสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งปรากฏผลชัดเจนว่าทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถช่วยให้ประชาชนคลายความเดือดร้อนในช่วงวิกฤตไปได้

นายพีระพันธุ์ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะสานงาน “ทำต่อ” ตามยุทธศาสตร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนอีกหลายโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพราะความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถรอได้  ทางพรรคจึงได้นำร่องหาเสียงด้วย 5 นโยบายโดนใจ ที่พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระหนี้ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ชีวิต และขจัดปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้

1. เพิ่มสิทธิ ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ เป็น 1000 บาท/เดือน และ สิทธิเบิกฉุกเฉิน 10,000 บาท/คน  

2. ตั้ง ‘กองทุนฉุกเฉินประชาชน’ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท    

3. คืน 30% เงินสะสมชราภาพ  ให้ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 

4. โครงการ ‘ปลดหนี้ด้วยงาน’  

5. รื้อกฎหมายที่รังแกประชาชน และเป็นอุปสรรคการทำกิน 

นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงนโยบายการเพิ่มสิทธิ ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ ว่า นโยบายนี้เป็นโครงการ “ทำต่อ” จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่แล้ว  โดยให้สิทธิเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจัดสรรจากเงินงบประมาณที่รองรับโครงการนี้อยู่แล้ว  ขณะเดียวกัน ผู้ถือบัตรยังมีสิทธิกู้ฉุกเฉินในวงเงิน 10,000 บาทต่อคน โดยสามารถนำบัตรนี้ไปเป็นหลักประกันเงินกู้กับธนาคารออมสินซึ่งมีโครงการให้สินเชื่อรายย่อยในวงเงิน 10,000 บาทอยู่แล้ว

“บัตรนี้มีความน่าเชื่อถือ เพราะรัฐบาลเป็นคนจ่ายเงิน สามารถใช้เป็นหลักประกันอะไรก็ได้  ขณะที่ทางธนาคารออมสินก็มีโครงการให้เงินกู้แก่ชาวบ้านรายย่อยในวงเงิน 10,000 บาทอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่ค่อยได้ปล่อยกู้ เพราะคนที่มาขอกู้ซึ่งเป็นชาวบ้านระดับฐานรากไม่ค่อยมีหลักประกัน  กลายเป็นว่ามีโครงการให้ มีวงเงินให้ แต่ปล่อยกู้ไม่ได้  ก็สามารถใช้บัตรนี้ซึ่งเป็นบัตรที่รัฐจ่ายเงินแน่นอนทุกเดือนอยู่แล้ว ไปเป็นหลักประกันเงินกู้ให้กับธนาคารออมสิน โดยสามารถหักคืนเงินกู้จากบัญชีของผู้กู้ได้เลย ทำให้บัตรใบเดียวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง” นายพีระพันธุ์กล่าว

ในด้านนโยบายเกี่ยวกับ “กองทุนฉุกเฉินประชาชน” นั้น  นายพีระพันธุ์กล่าวว่า กองทุนนี้จะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจำนวนมากที่มีความจำเป็นและต้องการเงินฉุกเฉินไปใช้จ่าย โดยวงเงินงบประมาณสำหรับกองทุนนี้จะมาจากการนำกองทุนที่มีอยู่แล้วประมาณ 30 กว่ากองทุน  ซึ่งหลายกองทุนไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร  มาจัดระบบใหม่และตั้งเป็นกองทุนฉุกเฉินเพื่อให้ประชาชนกู้ยืมไปใช้ในกิจการหรือการทำมาหากินที่ประสบปัญหา โดยคาดว่าจะรวบรวมวงเงินได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท  

นอกจากนี้  หลักเกณฑ์การขอกู้ยืมจากกองทุนฉุกเฉินประชาชนก็จะมีความผ่อนคลายมากกว่าเงื่อนไขของสถาบันการเงิน ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านระดับล่างที่ไม่สามารถดำเนินการตามกฎเกณฑ์หรือระเบียบของสถาบันการเงิน  ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน  กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หากประสบปัญหาเดือดร้อนหรือต้องการเงินฉุกเฉิน ก็สามารถเบิกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อนได้ 30%  โดยไม่ต้องรอครบกำหนดอายุ  ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนใช้สอยจากเงินสะสมของตัวเอง 

สำหรับนโยบาย “ปลดหนี้ด้วยงาน” นั้น หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าวว่า  ปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่มีหนี้สินและไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ แต่พวกเขาเหล่านั้นยังมีพลังความสามารถที่จะทำงานได้ ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ต้องการคนที่จะมาดูแลปัญหาหลายเรื่อง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง คนสูงอายุ คนด้อยโอกาส หรือกระทั่งการสอนหนังสือเด็กๆ  และเมื่อคนที่มีความสามารถเหล่านี้มีปัญหาด้านหนี้สิน ก็สามารถใช้หนี้แทนด้วยการทำงานได้

“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและยังถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ. ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า ยกหนี้ไปเลย แต่อีกฝ่ายก็บอกว่า ยกไม่ได้เพราะเป็นเงินหลวง ซึ่งก็มีประเด็นทั้งสองฝั่ง แต่เราต้องมาดูข้อเท็จจริงว่า  โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เพื่อนำความรู้มาพัฒนาบ้านเมือง ดูแลสังคม ดูแลครอบครัวต่อไป เมื่อเขาเรียนไปแล้ว ก็ต้องใช้หนี้คืนเงินหลวง แต่ชีวิตคนไม่เหมือนกัน  บางคนอยากใช้หนี้คืน แต่เขาไม่มีงานทำ บางคนมีงานทำ แต่มีภาระครอบครัวมาก ไม่สามารถแบ่งเงินมาใช้หนี้ได้  ส่วนอีกประเภทคือตั้งใจโกงซึ่งพวกนี้ต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด  คนที่เป็นหนี้ กยศ. จึงไม่ได้เหมือนกันหมด จะบอกให้คืนหมด หรือยกให้หมดก็ไม่ได้  บางกลุ่มก็ต้องเห็นใจเขา พวกเขาไม่ได้ตั้งใจโกง แต่พวกเขาไม่มีเงินจ่าย เพราะไม่มีงาน หรือมีภาระครอบครัวมาก การไปฟ้องร้องก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา นอกจากกระดาษแผ่นเดียวว่า คุณชนะคดีความแล้ว  เราควรเอาความรู้ความสามารถของเขามาช่วยกันพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม เช่น คุณเรียนกฎหมายมา  คุณต้องเอาวิชาคุณไปสอนหนังสือเด็ก หักหนี้กันไป รัฐก็ได้ประโยชน์  ไปดูแลสังคม ชุมชน หมู่บ้าน ตามโครงการที่รัฐตั้งขึ้นมา  ก็ใช้หนี้กันไป  ไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้ด้วยเงิน แต่เป็นการจ่ายหนี้ด้วยงาน  ก็สามารถหมดหนี้กันไปได้ โดยไม่ต้องยกหนี้  แต่เป็นการปลดหนี้ด้วยงาน ซึ่งสามารถขยายไปยังหนี้ต่าง ๆ ได้อีกหลายเรื่อง” นายพีระพันธุ์กล่าว

ในส่วนของนโยบายเกี่ยวกับการ “รื้อกฎหมายที่รังแกประชาชนและเป็นอุปสรรคการทำกิน” นั้น  พรรครวมไทยสร้างชาติได้ดำเนินการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยมีการร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนจำนวนมากประสบความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน ที่มีสาเหตุจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ความซ้ำซ้อนของกฎหมายหลายฉบับของแต่ละหน่วยงานที่ถือกฎหมายคนละฉบับ ทำให้ประชาชนถูกดำเนินคดี ด้วยเรื่องที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไปอยู่ในแนวเขตอุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าสงวนต่างๆ  ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติผลปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการ หรือที่เรียกว่า “One map” จำนวน 11 จังหวัดในภาคกลาง ไปเมื่อปี 2565 และจะนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้มีสิทธิครอบครอง มีสิทธิทำกินในที่ดินนั้น โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนฟ้องขับไล่หรือถูกดำเนินคดีอีกต่อไป และจะได้มีการดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น เราจะปรับแก้กฎหมายนโยบายที่ดินแห่งชาติเพื่อดำเนินการต่อยอดให้ผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินมีโอกาสมีที่ทำกินมากขึ้น

“กฎหมายทุกวันนี้ออกมาจากคนที่ถือกฎหมายคิดเองเขียนเอง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำกิน ซึ่งมีหน่วยงานเกี่ยวข้องเยอะแยะไปหมด ก็ต้องเอากฎหมายเหล่านี้มาแก้ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยท่าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีนโยบายเกี่ยวกับที่ดินตามนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่สามารถเคลียร์ได้อีกหลายเรื่อง ก็ต้องแก้กฎหมายต่อไป  อีกตัวอย่างคือในสังคมเมืองที่เห็นได้ชัด ก็คือ การขออนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งต้องดำเนินการหลายขั้นตอน แม้แต่เรื่องง่าย ๆ  เช่น ถ้าจะเปิดร้านอาหารสักร้านกว่าจะเปิดได้ต้องผ่านหลายกระทรวง  ทำไมเราไม่ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย โดยให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องประกาศเป็นกฎระเบียบออกมาล่วงหน้า  ใครที่อยากเปิดร้านอาหารก็ดำเนินการตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น และเปิดร้านได้ทันทีโดยไม่ต้องรอใบอนุญาต  เพียงแต่ต้องแจ้งภาครัฐให้มาตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตตามหลัง โดยไม่ต้องเสียโอกาสในการทำมาหากิน” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ยังเปิดเผยอีกว่า  ทั้ง 5 นโยบายนี้ถือเป็นการนำร่องหาเสียง ก่อนการเปิดตัวนโยบายทั้งหมดของพรรครวมไทยสร้างชาติบนเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้  พร้อมทั้งกล่าวแสดงความมั่นใจว่า ทุกนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติสามารถทำได้จริงและทำได้ทันทีได้อย่างแน่นอน

“ทุกพรรคต่างก็มีแนวทางหรือประเด็นที่คิดว่าตัวเองต้องแก้ไข  ซึ่งก็เป็นที่น่าดีใจที่ทุกพรรคมองเห็นปัญหาของประชาชน  เพียงแต่ว่าปัญหาไหนที่ประชาชนเป็นกังวลมากที่สุด และที่สำคัญคือ พรรคไหนทำได้แน่   ซึ่งตรงนี้ของเราทำแล้ว ทำอยู่ และจะทำต่อ  และเราทำได้แน่นอน” นายพีระพันธุ์กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง