คัดลอก URL แล้ว
22 ปีศาลปกครองพิจารณาคดีแล้ว 198,902 คดี กระทรวงมหาดไทยถูกฟ้องอันดับ1

22 ปีศาลปกครองพิจารณาคดีแล้ว 198,902 คดี กระทรวงมหาดไทยถูกฟ้องอันดับ1

22 ปีศาลปกครองพิจารณาคดีแล้ว 198,902 คดี กระทรวงมหาดไทยถูกฟ้องเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องที่ฟ้องคดีมากที่สุดคือ เรื่องที่ดิน

7 มี.ค.66  นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด แถลงผลการดำเนินงานของศาลปกครอง เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี เปิดทำการศาลปกครอง โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด และมีรองประธานศาลปกครองสูงสุด ประกอบด้วย นายวิษณุ วรัญญู นายสุเมธ รอยกุลเจริญ นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ นายสุชาติ มงคลเลิศลพ และนายพรชัย มนัสศิริเพ็ญ ร่วมเป็นเกียรติในงาน

นายประวิตร บุญเทียม เปิดเผยว่า ภาพรวมตลอด 22 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองรับคดีเข้าสู่การพิจารณาแล้ว จำนวน 198,902 เป็นคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 140,078คดี และเป็นคดีอุทธรณ์หรือคดีฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุด จำนวน 58,824 คดี

จากภาพรวมคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง  198,902 คดี  ศาลพิจารณาพิพากษาคดีแล้วเสร็จ จำนวน 171,555  คดี คิดเป็นร้อยละ 86 ของคดีที่รับเข้า โดยในจำนวนคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จนี้ พบว่า ศาลปกครองชั้นต้นสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ จำนวน 123,831คดี คิดเป็นร้อยละ 88 ส่วนศาลปกครองสูงสุดสามารถพิจารณาคดีได้แล้วเสร็จ จำนวน 47,724คดี คิดเป็นร้อยละ 81 และมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีก จำนวน 27,347 คดี ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น จำนวน16,247 คดี โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจคำฟ้อง แสวงหาข้อเท็จจริง และสรุปสำนวน จำนวน 14,412 คดี ขั้นตอนการจัดทำคำแถลงการณ์ จำนวน 1,064 คดี ขั้นตอนการนั่งพิจารณาคดี และจัดทำร่างคำพิพากษา/คำสั่ง จำนวน 619 คดี และขั้นตอนการรออ่านคำพิพากษา/คำสั่ง จำนวน 152 คดี และเป็นคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดอีก จำนวน 11,100 คดี โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจคำฟ้อง แสวงหาข้อเท็จจริง และสรุปสำนวน จำนวน 6,534 คดี ขั้นตอนการจัดทำคำแถลงการณ์ จำนวน 1,750 คดี ขั้นตอนการนั่งพิจารณาคดี และจัดทำร่างคำพิพากษา/คำสั่ง จำนวน 1,330 คดี และขั้นตอนการตรวจร่างคำพิพากษา/คำสั่ง จำนวน 1,486 คดี

และในส่วนของการบริหารจัดการคดีที่เป็นอำนาจของประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น ปีที่ผ่านมามีคดีที่คงค้างการพิจารณาวินิจฉัยจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน34 คดี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประธานศาลปกครองสูงสุดได้สั่งการให้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ฯ เพื่อวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองที่สำคัญ เพิ่มเติมอีกจำนวน 49 คดี รวมเป็น 83 คดี โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ประธานศาลปกครองสูงสุดเข้ารับตำแหน่ง ถึงวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2566 มีคดีที่ได้รับการพิจารณาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 38 คดี และมีคดีคงค้างการพิจารณาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ฯ จำนวน 45 คดี

ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ได้กำหนดให้การยื่นฟ้องคดีปกครองสามารถทำได้เพียง 2 วิธี เท่านั้น คือ 1) การมายื่นฟ้องด้วยตนเองที่ศาลปกครอง และ 2) สามารถยื่นฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือทางโทรสาร ต่อมา ศาลปกครองได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 โดยกำหนดให้สามารถดำเนินการรับฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์และดำเนินกระบวนพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพิ่มอีก 1 ช่องทาง และได้มีการประกาศใช้ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562โดยกำหนดวิธีการยื่นฟ้องและการดำเนินกระบวนการพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น

นับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ที่ได้มีการเปิดใช้งานระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คู่กรณีและประชาชนให้สามารถยื่นฟ้องคดีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยปี 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาระบบในส่วนของการยื่นอุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุดให้ครบถ้วนทุกขั้นตอน ทำให้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์นี้ รองรับการดำเนินการทางคดีตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น คือ การยื่นฟ้อง ไปจนถึงสิ้นสุดกระบวนการพิจารณา คือ การพิจารณาพิพากษา การยื่นอุทธรณ์ และการบังคับคดี ในปัจจุบันนี้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงสามารถยื่นคำฟ้อง คำให้การ ส่งสำเนาพยานหลักฐานประกอบคำฟ้อง คำให้การ ส่งเอกสารตามที่ศาลมีหมายเรียก ชำระค่าธรรมเนียมศาล ยื่นคำร้องคำขอต่าง ๆ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถเข้าถึงข้อมูลในสำนวนคดีของตนเอง รวมทั้งตรวจดูและพิมพ์เอกสารในสำนวนคดีของตนและของคู่กรณีฝ่ายอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศาลปกครอง

ปัจจุบันมีจำนวนคดีรับเข้าของศาลปกครองที่ยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เปิดใช้ระบบ และคดีที่คู่กรณีมีการใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างการดำเนินคดี รวมสองชั้นศาล จำนวน 5,114 คดี เป็นการดำเนินคดีในศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 4,947คดี และเป็นการดำเนินคดีในศาลปกครองสูงสุดทั้งคดีฟ้องตรงและการอุทธรณ์คำสั่ง/คำพิพากษาต่อศาล จำนวน 167 คดี โดยในจำนวนนี้ศาลปกครองได้พิจารณาแล้วเสร็จผ่านระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2,757 คดี

นอกจากการพัฒนาระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและคู่กรณีในการดำเนินคดีปกครองแล้ว ศาลปกครองได้ส่งเสริมให้มีการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยการไกล่เกลี่ยอย่างจริงจัง โดยการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ และยกร่างระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. 2562เพื่อให้ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ในคดีปกครอง และกำหนดระยะเวลาการดำเนินการไกล่เกลี่ยให้มีความชัดเจน และกระชับ คือ ให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่ “วันนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทครั้งแรก” การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองจึงเป็นวิธีการที่สามารถทำให้ข้อพิพาทยุติลงด้วยดีภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพื่อให้คู่กรณีได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า

ลักษณะของคดีที่ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีดังนี้ (1) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (2) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ (3) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และ (4) คดีพิพาทอื่นตามที่กำหนดในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งหากการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีดังกล่าวได้ผลดีก็อาจมีคดีพิพาทประเภทอื่น ๆ ที่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้อีกในอนาคต

โดยนับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา ที่ศาลปกครองได้นำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองมาใช้ทุกศาลฯ ทั่วประเทศ พบว่า มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 460 คดี ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ จำนวน 421 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.52ของคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย โดยเป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จทุกประเด็นหรือสำเร็จบางประเด็น จำนวน 233 คดี คิดเป็นร้อยละ 50.56และไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ จำนวน 152คดี คิดเป็นร้อยละ 33.04 และมีคดีอยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ย จำนวน 39 คดี หรือร้อยละ 8.47 โดยศาลปกครองที่มีคดีไกล่เกลี่ยมากที่สุดคือ ศาลปกครองกลาง จำนวน 147 คดี ไกล่เกลี่ยแล้วเสร็จ จำนวน 140คดี ถัดมาเป็นศาลปกครองอุบลราชธานี จำนวน 145 คดี และไกล่เกลี่ยเสร็จสิ้นแล้วทั้ง 145 คดี ในส่วนของประเภทคดีที่มีการขอไกล่เกลี่ยมากที่สุด คือ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

สำหรับคดีใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง เช่น คดีที่ดินเขากระโดง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นฟ้องกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ 5,083 ไร่ พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 707 ล้านบาท ความคืบหน้าคดีหลังฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อ 23 ก.ย.2564 ต่อมาศาลปกครองสั่งรับฟ้องเมื่อเดือน มี.ค.2565 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง พิจารณาว่า กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน เพิกเฉยละเลยหรือไม่ และหากละเลยจะเป็นการละเมิดเรียกค่าเสียหายหรือไม่

อีกหนึ่งคดีสำคัญคือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด มหาชน (บีทีเอส) ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชน  ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายกฟ้องในคดี  โดยพิจารณา การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการดังกล่าว ไม่ใช่การแก้ไขในหลักการสำคัญตามมติ ครม. จึงไม่ต้องเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกรอบ และการดำเนินการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนก่อนแต่อย่างใด ประกอบกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว รฟม.ใช้ดุลยพินิจโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย รฟม. จึงไม่มีการกระทำละเมิดต่อบีทีเอส และไม่จำเป็นต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บีทีเอส


ข่าวที่เกี่ยวข้อง