KEY :
- กรมอุตุฯ ออกประกาศเข้าฤดูร้อนอย่างเป็นทางการวันที่ 5 มี.ค.นี้
- คาดบริเวณภาคเหนือ – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อนสุดที่ 40 – 43 องศาฯ
- ส่วนกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ร้อนสุด 38 – 39 องศาฯ
- เตือนระวังพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงภัยแล้ง แนะประหยัดน้ำ
…
จากสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าในหลายพื้นที่ แต่จะเป็นอากาศเย็นระลอกสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ โดยในวันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเรื่อง การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2566 โดยระบุว่า
ประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูหนาวและเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ในวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๖ โดยในตอนกลางวันพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนโดยทั่วไปอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ ๓๕ องศาเซลเซียสขึ้นไป
ประกอบกับ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทย ตอนบนได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมแทน ซึ่งเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนของ ประเทศไทย
แต่อย่างไรก็ตามบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนบริเวณยอดภูและยอดดอยรวมทั้งเทือกเขายังคงมีอากาศหนาวเย็นต่อไปอีกระยะหนึ่ง และคาดว่าฤดูร้อน จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
คาดหมายฤดูร้อนปี 2566
สำหรับฤดูร้อนของประเทศไทยในปีนี้ เริ่มต้นช้ากว่าปรกติ และคาดว่าจะไปสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม โดยมีลักษณะอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม ถึงปลายเดือนเมษายน และจะสลับกับการมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยประเทศไทยตอนบนประมาณ 35.5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะใกล้เคียงกับค่าปกติ (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) แต่จะสูงกว่าปีที่แล้ว (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2565 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.0 องศาเซลเซียส) และปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะใกล้เคียงค่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย มักจะเกิดพายุฤดูร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจจะมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้นจึงแนะนำให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด
คาดการณ์สภาพอากาศตามภาคต่าง ๆ
เหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
จะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในบางช่วง แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง รวมทั้งอาจมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกได้ในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้
โดยอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 40 – 43 องศาเซลเซียส บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ศรีษะเกษ และ อุบลราชธานี
ภาคกลางและตะวันออก รวมทั้งชายฝั่ง
จะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศ ร้อน จัดหลายพื้นที่ในบางช่วง โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง รวมทั้งอาจมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกได้ในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้
ส่วนอุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 40 – 42 องศาเซลเซียส บริเวณจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรีและสระแก้ว
ภาคใต้
จะมีอากาศร้อนบางแห่งในบางช่วง กับจะมีฝนตกร้อยละ 20 – 30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งอ่าวไทยและอันดามันจะมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร จากนั้น จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกจะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น บางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร
ส่วนอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 37 – 38 องศาเซลเซียส บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล
กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
จะมีอากาศร้อนเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน แต่จะมีฝนฟ้าคะนองในบางช่วง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ สำหรับอุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ราว 38 – 39 องศาเซลเซียส
ข้อมูล :
- กรมอุตุนิยมวิทยา