คัดลอก URL แล้ว
แนะเคล็ดลับ พ่อแม่รับฟังคุยเรื่องเพศกับลูกแบบไม่ตัดสิน ผลสำรวจพบวัยรุ่นปรึกษาเรื่องเพศกับเพื่อน-เว็บไซต์มากที่สุด

แนะเคล็ดลับ พ่อแม่รับฟังคุยเรื่องเพศกับลูกแบบไม่ตัดสิน ผลสำรวจพบวัยรุ่นปรึกษาเรื่องเพศกับเพื่อน-เว็บไซต์มากที่สุด

ในอดีตการพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับลูกในเรื่องเพศอาจดูเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจภายในบ้าน เนื่องจากไม่รู้ว่าจะสามารถพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหน หรือบางครอบครัวกังวลว่าจะเป็นการชี้นำให้ลูกหมกมุ่นในเรื่องเพศมากเกินไป สวนทางกับความสนใจและความสงสัยในเรื่องเพศของเด็ก ทำให้เด็กเลือกที่จะปรึกษาเรื่องนี้กับเพื่อนและค้นหาคำตอบจากอินเตอร์มากกว่า แต่ในปัจจุบันพบว่าหลายครอบครัวกล้าที่เปิดใจพูดคุยเรื่องเพศกับลูกมากขึ้น และพร้อมที่จะรับฟังความเห็นของลูกในเรื่องเพศอย่างเข้าใจ

ผลสำรวจของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่สำรวจในโซเชียลมีเดีย ในกลุ่มตัวอย่างเยาวชนอายุ 12 – 20 ปี ระหว่างวันที่ 14 – 28 ก.พ. 2565 ด้วยคำถาม ว่า ‘หากคุณอยากคุยเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือมีข้อสงสัยเรื่องเพศสัมพันธ์ อยากคุยกับใครเป็นอันดับ 1’ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่เลือกอยากคุยกับเพื่อนมากที่สุด แต่ที่น่าสนใจคือผู้ชายอยากคุยกับพ่อแม่เรื่องเพศมากที่สุด และสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด มักจะเป็นทางเลือกเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลเรื่องเพศสัมพันธ์และเพศทางเลือก

ส่วนอีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจ ถามว่า ‘รู้สึกอย่างไรที่จะต้องคุยเรื่องเพศต่างกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง’ พบว่า ร้อยละ 27.55 คุยได้เป็นเรื่องปกติในครอบครัว ร้อยละ 23.74 อยากคุยแต่ยังไม่กล้าร้อยละ 18.82 ไม่กล้าคุยและคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เข้าใจ ร้อยละ 12.08 รู้สึกอึดอัด ถ้าต้องคุย ร้อยละ 9.64 ไม่คุย เพราะรู้สึกไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ และ ร้อยละ 8.17 ไม่กล้าคุย กลัวโดนว่า

เคยสงสัยไหมว่าทำไมลูกไม่ค่อยอยากคุยหรือปรึกษาเรื่องเพศกับพ่อแม่ ,ทำไมลูกถึงต้องคุยเรื่องเพศกับเพื่อน หรือ ไปหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตมากกว่าที่จะคุยกับพ่อแม่ ,ทำไมพ่อแม่อยากให้ลูกคุยเรื่องนี้แต่ลูกมักเลี่ยงเสมอ..? ส่วนหนึ่งด้วยทัศนคติและค่านิยมที่ฝังรากลึกมานานของสังคมไทยที่มักไม่ค่อยนำเรื่องเพศมาพูดคุยเหมือนเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งที่จริงแล้วเรื่องเพศควรจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกได้เหมือนเรื่องอื่นๆ ซึ่งในช่วงวัยรุ่นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและความสัมพันธ์ใกล้ชิด ที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ พฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป ความสนใจและการแสดงออกของพวกเขา ยังรวมไปถึงการสนใจเพศตรงข้ามและความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตัวเอง

การจะพูดคุยกับลูกในเรื่องเพศกับลูก ต้องอาศัย 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ทัศนคติเรื่องเพศ ไม่มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปิด หน้าอาย ลามก สกปรก หรือคิดว่าโตไปลูกจะรู้เอง การคุยเรื่องเพศกับลูกเป็นการสร้างทักษะชีวิตให้กับลูก 2.ทักษะพูดคุยสื่อสาร รู้ว่าจะคุยอะไร คุยอย่างไร คุยเมื่อไร และ 3.ความรู้เรื่องเพศ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศที่จะคุย แนะนำ หรือตอบคำถามลูก

ขณะที่สถานการณ์ท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา หลังพบอัตราการคลอดของหญิงอายุ 10-19 ปี ลดลง 1-3 เท่า ซึ่งนางสาวสุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. สะท้อนว่าปัจจุบันสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคมเริ่มเปิดใจและเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น และหากมองถึงปลายทางที่ สสส. อยากแก้ปัญหาเรื่องการท้องก่อนวัยอันควร หรือปัญหาต่างๆ จุดเริ่มต้นสำคัญคือการมีความรู้ความเข้าใจของตัวเด็กในทุกวัย เพราะเพศศึกษาไม่ใช่แค่การมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย (Safe Sex) แต่หมายถึงในทุกช่วงวัยจะต้องเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา (Sex Education) ในมิติที่ต่างกันไป เช่น การดูแลสุขอนามัย การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การรู้และเข้าใจสิทธิทางเพศ

ปัจจุบันทาง สสส. มีเว็บไซต์ www.คุยเรื่องเพศ.com   ที่รวบรวมข้อมูลวิธีพูดคุยเรื่องเพศกับลูกแต่ละช่วงวัยให้ศึกษา เช่น บทความให้ความรู้เรื่องเพศมิติต่างๆ เว็บบอร์ดสำหรับกลุ่มพ่อแม่และกลุ่มลูก ที่เปิดพื้นที่ให้แชร์ความคิดเห็น แบบทดสอบให้ประเมินความพร้อมคุยกับลูกเรื่องเพศ รวมถึงรวมคู่มือ โปสเตอร์ และวิดีโอต่างๆ ที่จะนำไปเป็นแนวทางการสื่อสารกับลูก เพื่อลดโอกาสพลาดและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งยังติดตามมินิซีรีส์ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาส” ที่จะบอกเคล็ดลับดีๆ ให้พ่อแม่รู้วิธีคุยกับลูกเรื่องเพศ 6 เคล็ดลับ คือ รับฟังไม่ตัดสิน สอนผ่านการตั้งคำถาม ชื่นชมความคิดที่ดี เสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์  เชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก เป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา ผ่านการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ว่าพ่อแม่ต้องมีวิธีจัดการอย่างไรเมื่อลูกมาคุยเรื่องเพศเพื่อทำให้เห็นมุมมองของลูกมากขึ้น และต้องสะท้อนให้เห็นด้วยว่าเด็กทุกคนสามารถตัดสินใจเองได้ แต่อย่างน้อยเขาต้องการคนที่เชื่อมั่นในตัวเขา สามารถให้คำปรึกษา ให้ความรู้ และมีความมั่นใจเพียงพอว่า มีคนพร้อมเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเขา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสที่ทำให้บรรยากาศการพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัวเป็นไปในทิศทางที่ดี