KEY :
- ก่อนหน้านี้ แบม และ ตะวัน สองนักกิจกรรมทางการเมืองที่ทำกิจกรรม ‘นอนปักหลักอดอาหารหน้าศาลฎีกา’
- แพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ ประเมินแล้วว่าทั้งสองอยู่ในขั้นวิกฤต และผลเลือดมีค่าความเป็นกรดสูง
- ระบุ ถ้าปล่อยให้ทั้งสองอดอาหารต่อไปเสี่ยงต่อการมีภาวะไตวาย ตับวาย ทุพพลภาพ
วานนี้(28 ก.พ.66) ที่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ฝั่งประตูที่ 3 ถนนราชดำเนินใน พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 พร้อมด้วยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนของกลุ่มงานศูนย์ส่งกลับ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เดินทางมาขอตรวจร่างกาย “ตะวัน หรือ นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม หรือ นางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ “ สองนักกิจกรรมทางการเมืองที่ทำกิจกรรม ‘นอนปักหลักอดอาหารหน้าศาลฎีกา’
พ.ต.ต.นพ.ปีเฉลิม พิสนุแสน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินหน่วยส่งกลับโรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มา ทีมแพทย์ประเมินแล้วว่าทั้งสองอยู่ในขั้นวิกฤต และผลเลือดมีค่าความเป็นกรดสูง มองว่าถ้าปล่อยให้ทั้งสองอดอาหารต่อไปเสี่ยงต่อการมีภาวะไตวาย ตับวาย ทุพพลภาพ ดังนั้นทีมแพทย์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเดินทางมาเพื่อดูว่าจะช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างไรได้บ้างเพื่อให้ทั้งสองคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และหากทั้งคู่ประสงค์เดินทางไปโรงพยาบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยินดีที่จะอำนวยความสะดวก
เบื้องต้นจากการประเมินผ่านภาพที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆทั้งคู่มีความอ่อนเพลียประมาณร้อยละ 50 เท่าที่มองขณะนี้อยู่ในภาวะฉุกเฉินเพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ จึงประเมินเบื้องต้นว่าร่างกายทั้งสองคนไม่สามารถรับไหว ต้องเข้ากระบวนการรักษา
พ.ต.ต.นพ.ปีเฉลิม กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้บังคับว่าทั้งสองจะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ หากประสงค์ไปโรงพยาบาลใดก็พร้อมประสานงานให้ แต่ถ้าอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วต้องไปที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด
จากนั้น นาย กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า ทั้งสองคนต้องการทราบเหตุผลว่าเป็นแพทย์จากหน่วยงานใดและได้รับอนุมัติจากทั้งสองให้เข้าตรวจร่างกายหรือยังเพราะ ทั้งสองมีสิทธิในร่างกายของตัวเองซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ด้านพ.ต.ต.นพ.ปีเฉลิม จึงตอบกลับว่า ทีมแพทย์มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่ดูแลประชาชนทุกมิติ การเข้าไปตรวจร่างกายในวันนี้จะขออนุญาตก่อน จะไม่ทำโดยพลกาลและหากไม่ได้รับอนุญาต ทางทีมจะไม่เข้า และจะขอให้ทนายเป็นผู้ประสานให้
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามทนายความว่า ปัจจุบันอาการป่วยของตะวัน และแบมมีผู้มาดูแลให้หรือไม่ กฤษฎางค์กล่าวว่า อาการแต่ละวันมีการตรวจอยู่แล้วแต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้แต่ส่วนตัวอยากให้ทั้งสองกลับเข้าสู่กระบวนการรักษา
ในเวลา 15.30 น. นาย กฤษฎางค์ กล่าวว่า ขณะนี้ตะวันและแบมยินยอมให้ทีมแพทย์เข้าไปตรวจสอบอาการเบื้องต้น แต่ให้เข้าไปแค่ 1 คน และไม่ยินยอมที่จะให้เจาะเลือด วัดความดันหรือทำหัตถการใดๆ เพราะว่าพอมีประสบการณ์จากหมอที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ในการดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้ว ส่วนสาเหตุที่ยอมเพราะว่าเห็นว่า แพทย์มีน้ำใจเข้ามาตรวจ แต่ไม่ต้องการเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ทั้งนี้หลังจากผ่านไป 30 นาที ด้านกฤษฎางค์ กล่าวว่า ตนขอเป็นคนรายงานอาการป่วยเนื่องจากแพทย์ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยได้เพราะเป็นหลักจรรยาบรรณแพทย์ ตนในฐานะญาติจึงขอทำหน้าที่ ทั้งนี้แพทย์ได้ให้ความรู้การดูแลผู้ป่วยว่า “ ไม่ควรอดอาหารต่อเนื่องจากมีอาการอ่อนเพลีย ขาดน้ำ อาการแต่ละวันจะไม่คงตัวเนื่องจากเป็นลักษณะของอาการขาดสารอาหาร แต่ว่ายังมีการรับรู้ โต้ตอบได้ “
ที่ผ่านมาตนเองและครอบครัวแนะนำตะวันและแบมว่า ให้พิจารณาวิธีการต่อสู้เห็นความสำคัญชีวิตตัวเอง จากที่พูดคุยทั้งสองมีท่าทีสบายใจขึ้นหลังจากมีกระแสข่าวว่าจะสลายจุดที่ทำกิจกรรม ทั้งนี้ทีมแพทย์จากการตรวจเยี่ยมไปประเมินเพื่อเตรียมเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อเตรียมพร้อมรักษาในอนาคต
นาย กฤษฎางค์ กล่าวต่อว่า หากทั้งสองเข้าสู่สภาวะวิกฤตสามารถประสานโรงพยาบาลตำรวจได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อส่งไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่ถ้าอยู่ในจุดฉุกเฉินสามารถร้องขอเฮลิคอปเตอร์ให้มารับตัวได้
ด้าน พล.ต.ต.อัฏธพร กล่าวว่า ตำรวจประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร โดยมีสำนักงานเขตพระนครเข้ามาดูแลเรื่องความสะอาด กวาดขยะในพื้นที่ชุมนุม ยืนยันไม่การใช้กำลังเข้ามากดดันผู้ทำกิจกรรมแต่อย่างใด ไปที่การเตรียมพร้อมดูแลมากกว่า ส่วนที่มีผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างสถานการณ์ ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจัดกำลังเข้ามาดูแลเพิ่มเติมแล้ว
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุมบริเวณดังกล่าวเนื่องจากมีการเขียนป้ายระบุข้อความหมิ่นศาล มีรายงานว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการให้จุดพักของตะวัน และ แบมรวมถึงผู้ชุมนุมขยับไปที่ด้านหลังของอาคารศาลฎีกา เพื่อให้มีร่มเงา หลบแดดได้
ภาพ – วิชาญ โพธิ