คัดลอก URL แล้ว
“MONO29” คว้ารางวัลยอดเยี่ยม “บทความป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประจำปี 2565

“MONO29” คว้ารางวัลยอดเยี่ยม “บทความป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประจำปี 2565


ทีมข่าวเศรษฐกิจ “ MONO29” คว้ารางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1ประเภทสื่อโทรทัศน์ โครงการประกวดบทความข่าวเชิงวิเคราะห์ “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประจำปี 2565 จากธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ถือเป็นผลงานจากสื่อโทรทัศน์แห่งแรกในรอบ 16 ปี ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม

โครงการประกวดบทความข่าวเชิงวิเคราะห์ “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประจำปี 2565 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทีมข่าวเศรษฐกิจได้สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะในการนำเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ และให้คนในสังคมหันมาให้ความสนใจกับข่าวเศรษฐกิจมากขึ้น

ซึ่งในการประกวดครั้งนี้ ทีมข่าวเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ ช่อง MONO29 (โมโน ทเวนตี้ไนน์) สามารถคว้ามาได้ 2 รางวัล คือ รางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประเภทสื่อโทรทัศน์

โดยรางวัลยอดเยี่ยม ได้แก่ สกู๊ปข่าวเรื่อง ปลอด “ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ” ปลายทางแก้หนี้ กยศ. ? ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมรางวัลเดียวในปี 2565 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ มอบให้จากทุกประเภทสื่อที่ส่งผลงานเข้าประกวด และยังเป็นรางวัลยอดเยี่ยมที่มอบให้แก่สื่อโทรทัศน์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดโครงการประกวดบทความดังกล่าวในช่วง 16 ปี รวมถึงไม่มีสื่อใดได้รับรางวัลยอดเยี่ยมมาถึง 10 ปีแล้ว

สกู๊ปข่าว เรื่อง ปลอด “ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ” ปลายทางแก้หนี้ กยศ.? เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นร่างกฎหมาย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หากมีการยกเลิกคิดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้ จะเป็นแนวทางแก้หนี้ที่ยั่งยืนจริงหรือไม่ รวมถึงข้อเสนอการแก้หนี้ กยศ. จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันยังพบปัญหาหนี้ กยศ. เป็นหนี้เสียสูงสุดของประเทศ และพบผู้กู้เลี่ยงการชำระหนี้ในระบบจำนวนมาก

ส่วนอีกหนึ่งรางวัล คือ รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ สกู๊ปข่าวเรื่อง ทุกข์ของใคร ค่าไฟแพง รัฐผิดพลาด หรือ ก๊าซขาดแคลน ? โดยสกู๊ปข่าวเรื่องนี้ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งไม่ได้เกิดจากต้นทุนพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าของภาครัฐ โดยเฉพาะการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟ การเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้สัญญาที่ทำให้ภาครัฐเสียเปรียบหรือไม่ ตลอดจนผลกระทบราคาสินค้าที่เกิดจากต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง และข้อเสนอแนะการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะยาว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง