คัดลอก URL แล้ว
ก้าวหน้าถึงไหน? รถไฟฟ้าความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา”

ก้าวหน้าถึงไหน? รถไฟฟ้าความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา”

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้การรถไฟฯ โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดติดตามการก่อสร้าง รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้ภายในปี 2570

ล่าสุด โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในส่วนแผนก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปตั้งแต่เมื่อปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 3 สัญญา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

• ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.

• อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา ได้แก่

  1. ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ผลงาน 97.88 %
  2. งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. ผลงาน 11.42 %
  3. ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม.ผลงาน 18.63 %
  4. ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม.ผลงาน 47.54 %
  5. ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. ผลงาน 3.40 %
  6. ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม.ผลงาน 0.13 %
  7. ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ผลงาน 6.40 %
  8. ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผลงาน 0.04 %
  9. ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. ผลงาน 0.20 %
  10. ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. ผลงาน 34.04 %

• ส่วนที่ยังไม่ลงนาม 3 สัญญา ได้แก่

  1. ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม.
  2. ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.
  3. ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม.

นอกจากความก้าวหน้างานด้านโยธาแล้ว มีงานอื่นที่เร่งรัดคือ

• งานเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัญญาที่ได้รับผลกระทบจำนวน 11 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา ล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี โดยขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

• งานออกแบบระบบทั้งหมด และขบวนรถไฟ งานก่อสร้างและติดตั้ง ซึ่งจะเริ่มหลังจากงานออกแบบแล้วเสร็จและงานโยธามีความคืบหน้าสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เข้าวางราง และติดตั้งระบบไฟฟ้า, อาณัติสัญญาณ, ระบบสื่อสารรวมถึงการผลิตขบวนรถไฟ

• งานฝึกอบรมบุคลากรและงานถ่ายทอดเทคโนโลยี ล่าสุด ทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งแบบ และเอกสารต่างๆ มาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย และคู่สัญญาอยู่ระหว่างตรวจสอบและแก้ไขในรายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะเดินหน้างานระบบได้ภายในต้นปี 2566

นายเอกรัช ระบุว่า การรถไฟฯ เร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการทันตามกำหนดปี 2570 เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะใช้เวลาเดินทางจากสถานีต้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทาง นครราชสีมา เพียง 90 นาที

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตามสัญญาเดิมจะต้องแล้วเสร็จสิ้นปี 2569 แต่เนื่องจากติดปัญหาการเวนคืนที่ดิน การรื้อย้ายสาธารณูปโภค เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซ ฯลฯ จึงขยายสัญญาออกไปในปี 2570


ข่าวที่เกี่ยวข้อง