นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวในการประชุมกรรมการกองทุน สสส. ครั้งที่ 2/2566 ว่า ได้มอบหมายกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ดำเนินการใดๆ ที่เอื้อต่อการนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทย ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร ในการจับกุมผู้กระทำผิด ลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพื่อทำให้การควบคุมดูแลบุหรี่ไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขอให้ สสส. เร่งรณรงค์สร้างความตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชนไม่ให้หลงเชื่อและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงทำงานร่วมกับสถานศึกษา ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ต้นแบบปลอดบุหรี่ไฟฟ้า
“ที่ผ่านมาได้ผมมีโอกาสหารือกับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เกี่ยวกับประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผมก็เห็นพ้องกับทั้ง 2 ท่าน ในประเด็นพิษภัยและผลกระทบต่อสุขภาพ ที่จะเกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะจากการสูบตั้งแต่อายุยังน้อย ที่เสี่ยงจะเกิดการเสพติดไปตลอดชีวิต แม้ที่ผ่านมาจะมีหลายส่วนที่ร้องเรียนเข้ามา พยายามอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่ยืนยันว่า ผมไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มช่องทาง หรือเพิ่มโอกาสให้กับการลองสิ่งที่จะทำให้เกิดการเสพติดและอันตรายต่อสุขภาพชนิดใหม่ๆ ผมไม่อนุญาตแน่นอน” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า จากสถิติอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ 2566 พบว่ามีจำนวนการเกิดลดลงกว่าร้อยละ 20 ถือเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันระหว่างหลายภาคส่วน รวมถึง สสส. และภาคีเครือข่าย ในการสื่อสารรณรงค์และส่งเสริมมาตรการระดับต่างๆ โดยเฉพาะในระดับชุมชน ตำบล ที่มุ่งลดอุบัติเหตุทางถนน แม้ปัจจุบันจะมีผู้เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล มากขึ้นกว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตนหวังว่า สสส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้เป็นแนวทางในการสื่อสารรณรงค์สร้างความตระหนักอันตรายจากการดื่มแล้วขับอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้เปิดผับถึงตี 4 เพราะคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก แต่ในบางจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาจมีการพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป โดยพยายามถ่วงดุลทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าได้อย่างไม่เสียหาย