คัดลอก URL แล้ว
ดีอีเอส เตือน! อย่าหลงเชื่อ มนต์รักออนไลน์ เทศกาลวาเลนไทน์ ระวังหมดตัว

ดีอีเอส เตือน! อย่าหลงเชื่อ มนต์รักออนไลน์ เทศกาลวาเลนไทน์ ระวังหมดตัว

สำหรับเทศกาลวันวาเลนไทน์ที่กำลังจะมาถึง กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส มีความห่วงใยประชาชนทุกท่าน ที่อยู่ในช่วงเฉลิมฉลองวันแห่งความรัก ท่านอาจจะได้รับผลกระทบจากการเข้าถึงสื่อออนไลน์ ผ่านเฟสบุค โมบายแอปพลิเคชัน ทวิตเตอร์และอินสตาแกรม รวมถึงได้รับข้อความผ่านเอสเอ็มเอส เป็นต้น ขอให้ทุกท่านโปรดระมัดระวังในการให้ข้อมูลส่วนตัวของท่านกับคนแปลกหน้า

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ การทำงานของมิจฉาชีพที่จะมาหลอกลวง เหยื่อผ่านสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียต่างๆ มีความหลากหลายและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ท่านอาจจะได้รับข้อความส่งมาทาง Messenger เพื่อขอเป็นเพื่อนและขอเป็นคนรัก มีการเชิญชวนให้ท่านร่วมลงทุนเพื่อวางแผนอนาคตร่วมกัน ซึ่งมิจฉาชีพอาจจะหลอกให้โอนเงินไปยังปลายทางและหลอกว่าเป็นเงินเก็บร่วมกัน ขอให้ท่านอย่าหลงเชื่อ เนื่องจากจะทำให้ท่านเสียทรัพย์สินได้

นอกจากนี้หากมิจฉาชีพ มีการเชิญชวนให้ท่านโหลดแอปพลิเคชัน และเล่นเกมส์ผ่านเว็บไซต์ รวมถึงท่านที่ต้องการซื้อช่อดอกไม้จากร้านค้าออนไลน์ที่มิจฉาชีพแปลงตัวเป็นร้านขายดอกไม้ออนไลน์ ขอให้ท่านตรวจสอบแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ และร้านดอกไม้ที่น่าเชื่อถือ ก่อนที่ท่านจะชำระเงินหรือโอนเงินไปยังปลายทาง เพื่อป้องกันความเสียหายในการชำระเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ

นางสาวนพวรรณ กล่าวต่อว่า ดีอีเอส ขอให้ท่านทบทวนและระวังบุคคลแปลกหน้าที่ขอเข้ามาเป็นเพื่อนหรือคนรัก มิจฉาชีพอาจจะขอข้อมูลส่วนตัวของท่านในโชเชียลมีเดียไปแสวงผลประโยชน์ มีการถอนเงินจากบัญชีของท่านผ่านออนไลน์ แบงค์กิ้ง หรือเชิญชวนให้ท่านลงทุนเงินสกุลคริสโต เคอเรนซี่ เป็นต้น นอกจากนี้สำหรับท่านที่เข้าไปหาเพื่อนคุยหรือมองหาคนรักผ่านแอปพลิเคชันจับคู่ ขอให้ท่านเข้าใช้แอปพลิเคชันหาคู่อย่างระมัดระวังเพื่อท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการเข้าถึงแอปพลิเคชั่นปลอม ซึ่งหากท่านพาดพลั้งโหลดแอปพลิเคชั่นปลอม นอกจากท่านจะไม่สามารถพบเพื่อนคุยและคนรัก ผ่านแอปพลิเคชั่น ท่านอาจจะถูกมิจฉาชีพขโมยข้อมูลส่วนตัว ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัญชีธนาคารของท่านไปขายต่อยังเว็บไซต์ผิดกฎหมายหรือหน่วยงานอื่นๆที่นำข้อมูลส่วนตัวของท่านไปใช้ในทางที่ผิดได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการกระทำผิดบนสื่อออนไลน์ของมิจฉาชีพมีหลากหลายรูปแบบ ดีอีเอส ไม่ได้นิ่งนอนใจ กระทรวงมีการเฝ้าระวัง ติดตาม และป้องกันการกระทำผิด ของมิจฉาชีพผ่านสื่อออนไลน์อย่างเข้มงวด รวมถึงเฝ้าระวังและติดตามกลโกงของสื่อรักผ่านออนไลน์ หรือ Romance Scam ซึ่งเป็นการ หลอกให้รัก เพื่อหวังแสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อใจของเหยื่อ โดยหลอกให้โอนเงินหรือทรัพย์สินไปให้ ปัจจุบันมีผู้เสียหายจากการหลอกโอนเงินจำนวนมาก ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า สถิติอาชญากรรมออนไลน์ประจำเดือน มกราคม 2566 จากศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ พบว่าสถิติคดีเกี่ยวกับการหลอกให้รัก มีจำนวนสูงถึง 403 คดี โดยแบ่งเป็นคดีประเภทหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน จำนวน 168 เรื่อง และคดีหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน จำนวน 235 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 190 ล้านบาท

ดีอีเอส ขอแนะนำให้ท่านทำความเข้าใจถึงกลอุบายของมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกลวงมักจะมาด้วยกลอุบาย ดังต่อไปนี้

  1. หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน (Hybrid scam) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ปลอมด้วยการโอนเงินหรือลงทุนในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล
  2. หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมท (Remote access scam) ควบคุมสมาร์ทโฟนและทำการดูดเงินในบัญชี
  3. หลอกให้รักแล้วแบล็คเมล์ (Sextortion) ขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านทางออนไลน์ แล้วนำภาพหรือวิดีโอมาขู่เรียกค่าไถ่ หรือบีบบังคับให้กระทำการอื่นๆ
  4. มิจฉาชีพที่เป็นชาวต่างชาติจะทำทีมาจีบและให้ความหวังว่าอยากจะมาแต่งงานที่เมืองไทย และส่งทรัพย์สินให้ แต่ต้องชำระเงินค่าภาษีก่อน และขอให้ท่านช่วยชำระภาษีให้ก่อน
  5. มิจฉาชีพแสดงตัวว่าได้รับมรดกเป็นเงินมหาศาล แต่ต้องชำระภาษีมรดก ขอให้ท่านช่วยชำระภาษี
  6. ป่วยหนัก แต่ประกันยังเบิกจ่ายไม่ได้
  7. ส่งของรางวัลราคาแพงมาให้ แต่ติดอยู่ที่ด่านตรวจ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมก่อน ขอให้ท่านโอนเงินเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมรางวัลก่อน
  8. เป็นนักธุรกิจชาวต่างชาติที่จะมาลงทุน แต่ต้องการให้ร่วมทุนด้วย

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ท่านตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ผ่านสื่อออนไลน์ ท่านสามารถสังเกตและจับเท็จมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกลวงได้โดย สังเกตจากการที่มิจฉาชีพมักใช้รูปโปรไฟล์ที่ดูดี มีฐานะ ทักทายด้วยคำหวาน และใช้ภาษาอังกฤษที่ไม่ถูกหลักไวยกรณ์ มิจฉาชีพส่งอีเมลหรือลวงให้ใส่ข้อมูลธนาคาร เมื่อท่านเริ่มรู้สึกสงสัย หรือเริ่มระแคะระคายว่าจะโดนหลอก ท่านสามารถป้องกันตัวท่านเองได้ โดย
1.ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเอง หลีกเลี่ยงการเปิดกล้อง หรือพูดคุยเห็นหน้า
2.ตรวจสอบรูปโปรไฟล์ว่านำมาจากที่อื่นหรือไม่
3.ตั้งสติ ใจเย็น หมั่นถามคำถาม
4.หากมีการนัดพบ ควรมีเพื่อนไปด้วย
5.หลีกเลี่ยงการโอนเงินทุกกรณี
6.ระวังตัวอยู่เสมอ เพราะมิจฉาชีพออนไลน์มีทุกที่

อย่างไรก็ตาม หากท่านรู้ตัวว่า ได้ตกเป็นเหยื่อแล้ว ควรตั้งสติและจัดการกับปัญหาดังนี้
1.เตรียมเอกสารส่วนตัวและสำเนาบัตรประชาชน
2.เตรียมหลักฐาน เช่น ภาพสนทนาในแอปที่ใช้ รวมถึงรูปโปรไฟล์ของผู้กระทำผิด
3.เตรียมหลักฐานการโอนเงินต่างๆ เช่น สลิป หรือ รูปการทำธุรกรรม

  1. แจ้งเบาะแสได้ทางสายด่วนโทร 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง
  2. รีบไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุที่ใกล้ที่สุด หรือโทรสายด่วน 1710 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

“กระทรวงดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่น ที่จะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน และขอแสดงความห่วงใย ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทัน ภัยออนไลน์จากมิจฉาชีพ อย่าหลงเชื่อ หากท่านใดได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งมิจฉาชีพ หรือถูกหลอกลวงออนไลน์ต่าง ๆ หรือพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ทางสายด่วนโทร 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง” นางสาว นพวรรณ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง