คัดลอก URL แล้ว
อึ้ง! ผลวิจัย พบ คนไทยมี “ความสุจริต” ในเกณฑ์ที่น่าห่วง

อึ้ง! ผลวิจัย พบ คนไทยมี “ความสุจริต” ในเกณฑ์ที่น่าห่วง

รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เปิดเผย ผลวิจัย “คุณธรรมของสังคมไทย 2565 ” ของศูนย์คุณธรรม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒร่วมกับ สถาบันวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พบว่า คนไทยทุกช่วงวัยประเมินตนเองว่ามีความ “สุจริต” ในระดับพอใช้ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง โดยพบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 13-24 ปี ไม่กล้าแจ้งตำรวจ เมื่อรู้ว่าเพื่อนทำผิดกฎหมาย เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องของตน ร้อยละ 3.55 ส่วนผู้ใหญ่ไม่กล้าร้องเรียนเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกลัวผลกระทบ ร้อยละ 3.39 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่า รัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริมคุณธรรมด้านสุจริตในสังคมไทยให้มากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชัน ปี 2565 ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น

ส่วนผลการประเมินคุณธรรมในด้านอื่น ๆ เช่น พอเพียง มีวินัย จิตสาธารณะ และ กตัญญู พบว่าคนไทยทุกช่วงวัยตั้งแต่อายุ 13-60 ปี ประเมินตนเองในด้านมีความกตัญญูในระดับมาก สะท้อนว่าความกตัญญูเป็นคุณธรรมดั้งเดิมของสังคมยังคงได้รับความสำคัญจากอดีตถึงคนยุคปัจจุบัน ส่วนความพอเพียง ระบุกลุ่มวัยผู้ใหญ่อายุ 41 ปีขึ้นไป ประเมินว่าตนเองมีความพอเพียงระดับน้อย สาเหตุอาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด19 ในช่วง 3ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ต้องนำเงินออมมาใช้จ่ายก่อนวัยเกษียณมากกว่าที่กำหนดไว้

สำหรับภาพรวมสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทย กลุ่มตัวอย่างสะท้อนสภาวะความกังวลด้านคุณภาพชีวิต อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาผู้สูงวัยเผชิญภาวะอยู่ตามลำพัง สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชัน หรือแม้แต่สถานการณ์อุบัติเหตุในปี 2565 ที่พุ่งสูงขึ้น สาเหตุจากขาดวินัยการขับขี่ ภัยคุกคามเยาวชนจากสื่อออนไลน์กระทบต่อปัญหาครอบครัว เป็นต้น