วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2566) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อให้การโฆษณาสินค้าเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ไม่ใช้คำอวดอ้างสรรพคุณที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ รวมถึงสาระกฎหมายมีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์สื่อที่มีหลายช่องทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 13 ม.ค. 66 ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ การใช้ข้อความโฆษณาไม่ว่าจะกระทำทางสื่อโฆษณาใดก็ตาม จะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็น ฟัง หรืออ่านได้ชัดเจนตามประเภทของสื่อโฆษณา ไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ถ้าข้อความโฆษณาทำเป็นภาษาต่างประเทศ ต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับข้อความที่เป็นสาระสำคัญด้วยทุกครั้ง
มากไปกว่านั้น ในประกาศ ยังห้ามไม่ให้มีข้อความปัดความรับผิดชอบหรือสงวนสิทธิ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาทิ
(1)สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องของราคาและตัวสินค้า ตัวอย่างข้อความที่อาจจะเข้าข่าย เช่น บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาและเงื่อนไขโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า, ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า, ภาพสินค้าเป็นเพียงตัวอย่างอาจไม่ตรงกับรุ่นที่จัดโปรโมชั่นหรือข้อความอย่างอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน
(2)ข้อความเสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์ เรียกคนรัก แก้เคราะห์ แก้กรรม
(3)ข้อความที่เน้นเจาะเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล หรือเจาะกลุ่มคนที่กำลังมีปัญหาและความทุกข์ ต้องการที่พึ่งทางใจ เรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง อาจจะหลงเชื่อได้ง่าย ตัวอย่างข้อความที่อาจจะเข้าข่าย เช่น เมื่อใช้แล้วจะเห็นผลทันที เห็นผลภายใน 7 วัน รับทำพิธีเรียกคนรักกลับคืนมา รับแก้เคราะห์ แก้กรรม เสริมบารมี เพิ่มยอดขาย เพิ่มเสน่ห์ ใครเห็นใครรัก
(4)หากใช้ข้อความที่มีการเปรียบเทียบกับคู่แข่งหรืออ้างอิงผลวิจัย สถิติ ต่างๆ ต้องมีข้อมูลยืนยันชัดเจน และเมื่อถูกเรียกตรวจสอบในการพิสูจน์ข้อความโฆษณาต้องรวบรวมหลักฐานดำเนินการภายใน 15 วัน
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า หากคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าข้อความใดที่ใช้ในการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริงดังกล่าว คณะกรรมการฯ อาจออกคำสั่งให้นำข้อมูลมาพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงได้ และในกรณีเร่งด่วน คณะกรรมการฯจะออกคำสั่งระงับการโฆษณาดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ