คัดลอก URL แล้ว
การผลิตฝิ่นในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น หลังเกิดรัฐประหารใน พ.ศ 2564

การผลิตฝิ่นในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น หลังเกิดรัฐประหารใน พ.ศ 2564

KEY :

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime, UNODC) ได้รายงานผลสำรวจการปลูกฝิ่นในประเทศเทศเมียนมา พบว่า การปลูกฝิ่นกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2557-2563

โดย UNODC ระบุว่า ภายหลังจากการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา พื้นที่เพาะปลูกฝิ่นเพิ่มสูงขึ้นถึง 33% หรือกว่า 2.5 แสนไร่ และส่งผลให้มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 88% หรือราว 790 ตัน ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา และฝิ่นเหล่านี้ จะถูกผลิตเป็นยาเสพติดอย่าง เฮโรอีน

“ผลการศึกษาในปี 2565 เป็นที่ชัดเจนว่า การค้าฝิ่นของเมียนมาขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ”

ซึ่งเป็นผลมาจากมรสุมที่เกิดขึ้นภายในประเทศทั้งการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการควบคุมดูแลจากรัฐบาลเมียนมา ส่งผลให้พื้นที่การปลูกฝิ่นในพม่าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งทางตอนเหนือของรัฐฉาน และรัฐอื่น ๆ ตามแนวชายแดนหันกลับมาปลูกฝิ่นกันมากขึ้น

สามเหลี่ยมทองคำ

UNODC ยังระบุว่า บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่เป็นจุดบรรจบกันของพรมแดนระหว่าง ไทย ลาว และเมียนมา ยังคงเป็นศูนย์กลางความร่ำรวจที่เกิดขึ้นจากการค้ายาเสพติดมาอย่างยาวนาน และเชื่อมโยงกับส่งออกยาเสพติดไปยังตลาดโลก

แนวโน้มของการปลูกฝิ่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านี้ ยังคงสร้างผลกำไรมหาศาลที่ได้จากการค้ายาเสพติด โดยคาดว่า การค้าเฮโรอีนในภูมิภาคนี้ มีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

เกษตรกรที่หันกลับมาปลูกฝิ่นสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึงสองเท่าตัวจากการค้าฝิ่นในปี 2565

ซึ่งวิกฤติทางการเมืองที่นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่าง กองทัพเมียนมา และกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนจำนวนมากที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานเดิม นับตั้งแต่มีการรัฐประหารในประเทศ และประชาชนเหล่านี้ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการปลูกฝิ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

ในขณะเดียวกัน การควบคุมและการทำลายไร่ฝิ่นของรัฐบาลเมียนมา ก็ลดน้อยลงไปถึง 70% เหลือเพียงไม่ถึง 9 พันไร่เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งในประเทศที่เกิดขึ้น ทำให้การปราบปรามและทำลายแหล่งผลิตไม่สามารถกระทำได้เหมือนช่วงก่อนหน้า

ปริมาณฝิ่นเพิ่มขึ้น แต่รายได้เกษตรกรไม่มากนัก

ไม่เพียงแต่พื้นที่เพาะปลูกฝิ่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 30% แต่ด้วยเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่พัฒนาขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น การเข้าถึงปุ๋ยที่ทำได้ง่ายมากขึ้น ทำให้ผลผลิตฝิ่นต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นถึง 41% หรือราว 3.2 กก./ไร่ ซึ่งถือเป็น “ผลผลิตในระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศเมียนมาร์ นับตั้งแต่ UNODC ได้เริ่มเข้าทำการสำรวจ”

ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ถูกป้อนเข้าสู่ตลาดในเอเชีย และในปัจจุบันยังคงมีการใช้เฮโรอีนในปริมาณที่สูงมากทั้งในประเทศจีน เวียดนาม และอื่น ๆ ในภูมิภาค และคาดว่า ในอนาคตจะเริ่มส่งผลกระทบต่อภูมิภาคในวงกว้างมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลผลิตของฝิ่นจะเพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้ของเกษตรกรที่หันกลับมาปลูกฝิ่นกลับไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก เนื่องจากเมียนมายังคงประสบปัญหาเงินเฟ้อในระดับที่สูง จากค่าเงินจ๊าดที่อ่อนลง ควบคู่กับต้นทุนของปุ๋ย เชื้อเพลิง รวมถึงค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่นในเมียนมาได้รายได้-กำไรจากการค้ายาเสพติดในภูมิภาคน้อยมาก แม้ว่าจะถึงว่า เป็นรายได้ที่สูงกว่าการปลูกพืชเกษตรทั่วไปแล้วก็ตาม

พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน

จากการสำรวจของ UNODC พบว่า พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางด้านของรัฐฉาน ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศไทย และบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยมีบางส่วนอยู่บริเวณทางตะวันออกของรัฐคะฉิ่น ที่ติดกับทางด้านของประเทศจีน โดยพื้นที่ปลูกฝิ่นในรัฐฉานเพิ่มขึ้น 39% ซึ่ง 84% ของผลผลิตฝิ่นในประเทศเมียนมาก็มาจากในพื้นที่ของรัฐฉาน


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง