KEY :
- ญี่ปุ่นประกาศจะปรับลดระดับของโรคโควิด-19 ลงเหลือระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
- โดยมีกำหนดที่จะปรับลดระดับลงในวันที่ 8 พ.ค. นี้ ซึ่งจะส่งผลต่อมาตรการต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ที่จะยกเลิกไป
- มาตรการที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเช่น มาตรการสวมหน้ากากอนามัย, การกักตัวของผู้ป่วย-ผู้สัมผัสใกล้ชิด, กระบวนการเข้ารับการรักษาโรค-วัคซีน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย
…
ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกฯ ของประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศว่า ญี่ปุ่นจะลดกระดับของโควิด-19 จากเดิมที่อยู่ในระดับที่ 2 ลงไปอยู่ที่ระดับที่ 5 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. เป็นต้นไป หากไม่มีสถานการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้
หลังจากในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในประเทศ ซึ่งในใช้เวลาในการหาข้อสรุปแนวทางต่าง ๆ เนื่องจากมีข้อถกเถียงหลายประการที่จะต้องปรับปรุงมาตรการ และแนวทางเพิ่มเติมอยู่
โดยยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นวานนี้ ( 28 ม.ค.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 54,782 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 338 ราย รวมผู้ป่วยสะสมกว่า 32 ล้านราย ผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 67,000 รายแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนไม่เห็นด้วย
แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยมองว่า โควิด-19 ยังคงมีความรุนแรง และอัตราการตายที่สูงกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ แม้ว่า ในขณะนี้อัตราการระบาดในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงแล้วก็ตาม และยังคงมีโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์และส่งผลกระทบต่อการระบาดเพิ่มเติมได้ในอนาคต
การปรับมาเป็นโรคระบาดระดับ 5 เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ จะทำให้คลินิก และเจ้าหน้าที่แพทย์ สำหรับผู้ป่วยนอกจากต้องรับภาระเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนไข้จะเข้ามาพบแพทย์ในคลินิก โรงพยาบาลต่าง ๆ มากขึ้น และกลายเป็นเรื่องยากในการจำกัดการระบาดของโรคได้
โดยที่ผ่านมานั้น มีการแบ่งเขตผู้ป่วยที่อาจจะติดเชื้อออกจากผู้ป่วยในกลุ่มอื่น ๆ และผู้ป่วยนอกในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการปรับลดระดับของโรคเป็นระดับ 5 นั้น จะไม่ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ได้มีการเปิดสถานพยาบาลชั่วคราวที่ใช้รับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ที่ใช้สำหรับในการรับดูแลผู้ป่วยความเสี่ยงสูงในหลายพื้นที่ และหากมีการปรับระดับของโรคเป็นในระดับเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ก็จะส่งผลต่อการจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวเหล่านั้น และจะส่งผลกระทบต่อการรับมือการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นในขณะนี้ รวมถึงความสับสนในด้านของมาตรการต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย ที่ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด
ยังคงรวมถึงมาตรการการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งในขณะนี้ สายด่วนฉุกเฉินจะทำหน้าที่ช่วยประสานในการหาโรงพยาบาลสำหรับรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรง จะทำได้ยากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการประสานงานข้ามพื้นที่กัน
เตรียมแผนรับมือหลังปรับลดลงระดับ 8 พ.ค.
สำหรับการปรับลดระดับของโควิด-19 ให้เหลือเทียบเท่ากับไข้หวัดใหญ่นั้น ทางการญี่ปุ่นระบุว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้ จะถูกใช้ในการเตรียมการมาตรการต่าง ๆ ในการรับมือโควิด-19 นอกจากนี้ ในช่วงฤดูร้อนที่จะมาถึงนี้ คาดว่า การระบาดน่าจะลดลง และเปิดการปรับเพื่อเตรียมพร้อมการรับมือในช่วงฤดูหนาวครั้งหน้า เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมการเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม การปรับลดระดับลงไปเทียบเท่ากับไข้หวัดใหญ่ในครั้งนี้ ก็จะส่งผลต่อมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ด้วยเช่น มาตรการการสวมหน้ากากอนามัย ที่จะถูกยกเลิกข้อกำหนดเหล่านี้ไป รวมถึงคำสั่งการให้กักตัวอยู่ในที่พักสำหรับผู้ป่วย หรือ ผู้สัมผัสใกล้ชิดด้วย หรือมาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
สายด่วนฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ก็คาดว่าจะมีการยกเลิกตามไปด้วย และผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนปรกติ เช่นเดียวกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ที่จะเข้าตรวจในคลินิกผู้ป่วยนอก และมีการส่งต่อเป็นระดับ ๆ ไปตามการประเมินของแพทย์
ทางด้านของค่าใช้จ่ายในการรักษานั้น ในขณะนี้ ทางการญี่ปุ่นยังคงอยู่ในการพิจารณาเรื่องของการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 บางส่วน และอาจจะเป็นเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเรื่องนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล
นอกจากนี้ในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ที่ในขณะนี้ยังคงได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และให้ชาวญี่ปุ่นเข้ารับวัคซีนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาเช่นกัน
ข้อมูล :
- https://www3.nhk.or.jp/news/html/20230127/k10013963321000.html
- https://www3.nhk.or.jp/news/html/20230127/k10013962481000.html