คัดลอก URL แล้ว
ครม.ขยายเวลาลดหย่อนภาษี 2 เท่า เมื่อบริจาค 13 มูลนิธิด้านสาธารณสุข ผ่านระบบ e-Donation อีก 2 ปี จนถึงสิ้นปี 67

ครม.ขยายเวลาลดหย่อนภาษี 2 เท่า เมื่อบริจาค 13 มูลนิธิด้านสาธารณสุข ผ่านระบบ e-Donation อีก 2 ปี จนถึงสิ้นปี 67

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติร่างกฎหมายขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคด้านสาธารณสุข โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่หน่วยรับบริจาคด้านสาธารณสุข รวม 13 แห่ง (จากหน่วยรับบริจาคเดิม 10 แห่ง) เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร มีรายละเอียด ดังนี้

1.หน่วยรับบริจาคทั้ง 13 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยรับบริจาคเดิม 10 แห่ง ได้แก่ 1)สภากาชาดไทย 2)มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ฯ 3)ศิริราชมูลนิธิ 4)มูลนิธิจุฬาภรณ์ 5)มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ 6)มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนฯ 7) มูลนิธิโรคมะเร็งโรงพยาบาลศิริราช 8)มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี 9)มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า 10)มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และเพิ่มเติมหน่วยรับบริจาคใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ 1)มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2)มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา 3)มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก

2.การยกเวินภาษีเงินได้ แบ่งเป็น 1)บุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค 2)บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายที่บริจาคไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน

3.บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่หน่วยรับบริจาคทั้ง 13 แห่ง

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า มาตรการทางภาษีนี้ จะทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงประมาณปีละ 370 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเปิดโอกาสให้ประประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง