KEY :
- ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต กรอบวงเงิน 686.07 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี
- เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพจิตให้ประชาชนได้
- เพิ่มกำลังคนด้านสุขภาพจิต จำนวน 2,950 คน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต กรอบวงเงิน 686.07 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีบุคลากรด้านสุขภาพจิตรวม 5,946 คน (คิดเป็น 8.99 ต่อแสนประชากร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก) และแต่ละปีจะผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตได้ 488 คนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชน
โครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และยกระดับคุณภาพบริการสุขภาพจิตให้ประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล โครงการนี้มีเป้าหมาย คือ เพิ่มกำลังคนด้านสุขภาพจิต จำนวน 2,950 คน แบ่งเป็น
- 1.ด้านจิตแพทย์ทั่วไป 150 คน
- 2.ด้านพยาบาลเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวช 1,500 คน
- 3.ด้านพยาบาลเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวช 100 คน
- 4.ด้านนักจิตวิทยาคลินิก 400 คน
- 5.ด้านนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช 400 คน
- 6.ด้านนักกิจกรรมบำบัดจิตเวช 250 คน
- 7.ด้านเภสัชกรจิตเวช 150 คน
โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 – 2570 ส่วนวิธีการดำเนินโครงการ อาทิ 1.ประสานความร่วมมือกับสภาวิชาชีพ สถาบันฝึกอบรมของทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อจัดทำแผนร่วมกัน โดยพัฒนาบุคลากรเดิมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น 2.พัฒนาศักยภาพสถานบริการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มหน่วยผลิตบุคลากรจิตเวชจากต้นทุนที่มีอยู่ และ 3.ติดตามประเมินผลการพัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาและระบบบริการจิตเวชและยาเสพติด
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ 1.สามารถเพิ่มการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตของไทยได้ปีละ 590 คน รวม 2,950 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี 2.โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ มีสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิตเพียงพอต่อการจัดบริการให้ประชาชนในทุกอำเภอ 3.ประชาชนที่มีภาวะซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ก่อความรุนแรง ได้รับการวินิจฉัยและเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพใกล้บ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ก่อความรุนแรงในชุมชน และ 4.ผู้ป่วยจิตเวชสามารถเข้าถึงบริการจิตเวชอย่างต่อเนื่อง