เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา หัวหน้าโครงการวิจัย สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยถึงผลสำรวจ เรื่อง “ความเห็นประชาชนต่อ นโยบายประชาธิปัตย์”กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,824 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 – 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเมื่อถามความเห็นประชาชนต่อ นโยบายประชาธิปัตย์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 เรียนฟรี ถึง ปริญญาตรี รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 ประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่างพืชเศรษฐกิจ ข้าว ยาง ปาล์ม มัน ข้าวโพด ร้อยละ 58.8 ระบุฟรีนมโรงเรียน 365 วัน ร้อยละ 58.1 ระบุ ปลดล็อกประมงพาณิชย์ ร้อยละ 57.7 ระบุ ชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน ร้อยละ 57.3 ระบุ ออกกรรมสิทธิ์ทำกิน ให้ผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ ร้อยละ 57.0 ระบุ ธนาคารหมู่บ้าน – ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ร้อยละ 56.8 ระบุ ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงใน 4 ปี ร้อยละ 54.9 ระบุ ประมงท้องถิ่นรับ 1 แสนบาท ทุกปี ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกตามจุดยืนการเมืองของประชาชน เกี่ยวกับนโยบายการศึกษาของพรรคประชาธิปัตย์ เรียนฟรี ถึง ปริญญาตรี พบว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 81.1 เห็นด้วย กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 68.8 เห็นด้วยและกลุ่มพลังเงียบร้อยละ 76.6 เห็นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นโยบายฟรีนมโรงเรียน 365 วัน พบว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 75.0 เห็นด้วย แต่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลมีสัดส่วนน้อยกว่าคือร้อยละ 48.3 ที่เห็นด้วยและกลุ่มพลังเงียบร้อยละ 56.8 เห็นด้วยกับนโยบายฟรีนมโรงเรียนของพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ เมื่อจำแนก นโยบายการเกษตรของพรรคประชาธิปัตย์ ออกตามจุดยืนการเมืองของประชาชน พบว่า นโยบายประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่างพืชเศรษฐกิจ ข้าว ยาง ปาล์ม มัน และข้าวโพด ในกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 75.7 เห็นด้วย นอกจากนี้ กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 58.8 เห็นด้วยและกลุ่มพลังเงียบร้อยละ 62.2 เห็นด้วยเช่นกัน ที่น่าพิจารณาคือ นโยบายชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน พบว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 73.1 กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลแต่เห็นด้วยร้อยละ 51.4 และกลุ่มพลังเงียบร้อยละ 51.2 เห็นด้วย ตามลำดับ
ผศ.ดร.นพดล หัวหน้าโครงการสำรวจ กล่าววว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า นโยบายใดที่แตะต้องทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากเท่าไหร่ ก็ย่อมจะทำให้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์นั้น ๆ เช่น นโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี และนโยบายประกันรายได้ของเกษตรกรที่สัดส่วนประชากรผู้รับผลประโยชน์มีจำนวนมากแม้แต่ในกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มพลังเงียบยังเห็นด้วยกับนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตามจะเห็นว่านโยบายใดมีเฉพาะกลุ่มได้รับผลประโยชน์สัดส่วนของผู้เห็นด้วยก็จะลดหลั่นลงไปตามสัดส่วนของประชาชนกลุ่มนั้น ๆ เพราะฉะนั้น การเสนอนโยบายที่แตกต่างและโดน ๆ กลุ่มประชาชนหมู่มากกว้างขวางกว่าย่อมมีผลมากต่อกระแสนิยมได้
ผศ.ดร.นพดล กล่าวต่อว่า การจุดกระแสความนิยมที่มักใช้กันช่วงเลือกตั้งของนานาประเทศคือ การปั่นกระแสอารมณ์มากกว่าความเป็นเหตุเป็นผลมี 4 อารมณ์ของคนที่มักถูกปั่นกลายเป็นปัจจัยชนะหลักได้แก่ รัก เกลียดหรือกลัว โกรธ และโลภ ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน รักคือปั่นกระแสให้เกิดความนิยมศรัทธา เกลียดหรือกลัวที่มักนิยมใช้กันเป็นหลักเช่นในทุกวันนี้ให้เกลียด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลัวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และกระแสโกรธด้วยการสาดโคลนกันไปมา และกระแสโลภ ให้ประชาชนมุ่งเอาแต่จะได้ผลประโยชน์ใส่ตัวใส่กลุ่มและชุมชนของตน เป็นต้น ดังนั้นภาพอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ฝั่งรัฐบาลอาจจะแย่งคะแนนกันเองเพราะมีกลุ่มก้อนมากถึง 4 – 5 กลุ่ม เมื่อแตกแยกกันเอง พลังจะอ่อน ในขณะที่ อีกฝั่งหนึ่งมีเพียงสองกลุ่มใหญ่ที่มักจะมีฐานเสียงเหนียวแน่นเป็นทุนเดิมอยู่ ผลการเลือกตั้งอาจจะออกมาคล้าย ๆ กับ ผลการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ที่ฝั่งหนึ่งแตกแยกไร้พลัง อีกฝั่งหนึ่งเหนียวแน่นเป็นฐานใหญ่ ก็เป็นไปได้
ผศ.ดร.ยังกล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวลาออกจาก ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพลเพื่อลงการเมืองว่า ตนได้ลาออกจากผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพลจริงเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการทำวิทยานิพนธ์ สาขาไซเบอร์กับความมั่นคงของชาติ ที่มหาวิทยาลัยจอร์ทาวน์ กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ใช่การลงการเมืองเนื่องจากตนมีเป้าหมายชัดเจน อยากทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยไซเบอร์ที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะปัญหาความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์กระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยอย่างมาก กรณีปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ลิงค์ล่อเหยื่อ แอฟดูดเงินในบัญชีธนาคาร รวมถึงความมั่นคงด้านอื่นๆ นับวันจะสร้างความเดือดร้อนให้คนไทยกันมากขึ้น จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญวางแผนป้องกันและรับมือปัญหาทั้งปัจจุบันและอนาคตหากทำวิทยานิพนธ์ดังกล่าวสำเร็จจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก