จากกรณีข่าวผู้เสียหายถูกดูดเงินในบัญชี ในระหว่างชาร์จโทรศัพท์มือถือ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันตรวจสอบ แล้วพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการฝังชิปส์ในสายชาร์จแล้วถูกดูดข้อมูลรหัสผ่านเข้าโมบายแบงก์กิ้ง แต่เกิดจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรม และควบคุมเครื่องโทรศัพท์ จากระยะไกล ก่อนสวมรอยเข้าทำธุรกรรมโอนเงินออกจากบัญชี ในช่วงที่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้งานโทรศัพท์
ทั้งนี้ มิจฉาชีพ มักแฝงมัลแวร์ บนแอปพลิเคชั่นส์ ที่หลอกให้ดาวน์โหลด หรือ ส่ง SMS หลอกลวงว่า จะให้สินเชื่อปลอม แบงก์ชาติ และ สมาคมธนาคารไทย จึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงพัฒนาระบบความปลอดภัย บนโมบายแบงก์กิ้ง ควบคู่กับ การปิดกั้น เว็ปไซด์ และเอสเอ็มเอส หลอกลวง หรือ แอบอ้างสถาบันการเงิน เพื่อตัดการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ของมิจฉาชีพ ตลอดจน เพิ่มช่องทางแจ้งความออนไลน์ เพื่ออายัดบัญชี และระงับความเสียหายได้ทันท่วงที
พร้อมกำชับสถาบันการเงินเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกดูดเงินบัญชี ภายใน 5 วัน หากพิสูจน์ได้ว่า เจ้าของบัญชีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลส่วนตัวเอง
ขณะเดียวกัน แบงก์ชาติ และสมาคมธนาคารไทย ยังแนะนำให้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ไม่คลิกลิงก์จาก SMS / LINE และ อีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก ไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นส์ นอก Play Store หรือ App Store และควรหมั่นอัปเดต โมบายแบงก์กิ้ง ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ และไม่ใช้โทรศัพท์ที่ผ่านการปลดล็อกระบบความปลอดภัย หรือ ผ่านการเจลเบรกเครื่อง เพราะระบบปฏิบัติการจะไม่อัปเดตระบบความปลอดภัย