คัดลอก URL แล้ว
“สารวัตรเพียว” ชี้ เชื่อได้ยาก “เสี่ยเบนท์ลีย์” แอลกอฮอล์ไม่เกินมาตรฐาน

“สารวัตรเพียว” ชี้ เชื่อได้ยาก “เสี่ยเบนท์ลีย์” แอลกอฮอล์ไม่เกินมาตรฐาน

วันนี้ 11 มกราคม 2566 พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นกรณีสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ ก่อเหตุขับรถชนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา โดยหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้เป่าตรวจระดับแอลกอฮอล์ อ้างว่าผู้ก่อเหตุเจ็บหน้าอก ก่อนจะมีการตรวจเลือดหาระดับแอลกอฮอล์ในภายหลัง พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เกินที่กฎหมายกำหนด

พ.ต.ต.ชวลิต ระบุว่า ในอดีต สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาหลักฐานคดีเมาแล้วขับมาตลอด คือความพยายามทอดเวลาของผู้ต้องหา ที่เคยมีสิทธิในการปฏิเสธความร่วมมือทดสอบระดับแอลกอฮอล์ได้ เพราะการทอดเวลายิ่งนานเข้า แอลกอฮอล์ก็จะยิ่งถูกเผาผลาญลดลงไปเรื่อย ๆ ในอัตรา 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ย และสามารถเปลี่ยนจากเมาให้เป็นไม่เมาได้ แต่ปัจจุบัน กฎหมายถูกแก้ไขเพื่อขจัดปัญหานี้ให้พนักงานสอบสวนแล้ว โดยในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ให้ความร่วมมือทดสอบระดับแอลกอฮอล์ ให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานได้ทันทีว่าผู้ต้องหาเมา และยังมีบทลงโทษของการปฏิเสธไม่ทดสอบระดับแอลกอฮอล์ ให้จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย

พ.ต.ต.ชวลิต กล่าวว่า ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เจ้าหน้าที่ได้มีความพยายามแล้วหรือไม่ในการทดสอบระดับแอลกอฮอล์ผู้ต้องหา ณ จุดเกิดเหตุทันที หากเจ้าหน้าที่พยายามให้ทดสอบแล้วแต่ผู้ต้องหาปฏิเสธ ก็ถือได้ว่าผู้ต้องหามีความผิดสำเร็จแล้ว เจ้าหน้าที่สามารถสันนิษฐานได้ทันทีว่าเมาแล้วขับ ในทางกลับกันหากไม่มีความพยายามใดๆ โดยเจ้าหน้าที่ในการให้ผู้ต้องหาทดสอบระดับแอลกอฮอล์ ก็ต้องถือว่าเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อาจมีข้ออ้างหรือข้อโต้แย้งใดๆ ได้

“ส่วนข้ออ้างเรื่องเจ็บหน้าอกนั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นอย่างเด็ดขาด เพราะตราบใดที่ผู้ต้องหายังสามารถหายใจได้ กล้ามเนื้อปอดยังมีการสูดอากาศเข้าออกได้ เจ้าหน้าที่ก็จะต้องทดสอบระดับแอลกอฮอล์ตามหน้าที่โดยไม่อาจบ่ายเบี่ยงเป็นอื่นได้ เมื่อทดสอบแล้วแรงดันลมไม่มากพอก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ได้พยายามทดสอบแอลกอฮอล์ผู้ต้องหาแล้ว” พ.ต.ต.ชวลิต

พ.ต.ต.ชวลิต ยังกล่าวถึงการทดสอบหาระดับแอลกอฮอล์ย้อนหลัง โดยระบุว่าต่อให้เป็นการทดสอบอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม ผลที่ออกมาจากการทดสอบสามารถถูกโต้แย้งในชั้นศาลได้ โดยผู้ต้องหาอาจอ้างได้ว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากเกิดเหตุแล้ว ทำให้ผลที่ได้จะกลายเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนักพอในชั้นศาล นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอนุญาตให้เกิดการทอดเวลาโดยผู้ต้องหา แต่กฎหมายได้มีการแก้ไขเพื่อปิดช่องโหว่นี้ไว้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่นำข้อได้เปรียบนี้มาใช้ จนเกิดความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ได้รู้เห็นเป็นใจและปล่อยปะละเลยหรือไม่

พ.ต.ต.ชวลิต กล่าวว่า ดูจากความพยายามใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อให้ความผิดเบาลง ทำให้เชื่อได้ยากว่าผู้ต้องหาจะมีระดับแอลกอฮอล์ไม่เกินที่กฎหมายกำหนดตามข่าวที่ปรากฏ ยิ่งหากไม่มีหลักฐานว่าเมาแล้วขับ คดีก็อาจถูกตีความได้ว่าเป็นการขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต่างจากกรณีเมาสุราแล้วขับขี่ชนผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ ที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำและทั้งปรับ โดยที่ศาลสามารถสั่งพักใช้งานใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่ได้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจหากผู้ต้องหาจะมีความพยายามเลี่ยงไม่ให้มีการทดสอบแอลกอฮอล์เกิดขึ้นโดยทันที แต่ที่น่าแปลกใจมากกว่าคือเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความร่วมมือกับผู้ต้องหาทำไม

พ.ต.ต.ชวลิต ระบุด้วยว่า อย่างไรเสียกรณีนี้ต้องมีคนผิด หากไม่ใช่ผู้ก่อเหตุก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าพนักงานสอบสวนจะเขียนลงไปในสำนวนอย่างไร หากในสำนวนเป็นเรื่องของผู้ต้องหาไม่ให้ความร่วมมือในการทดสอบแอลกอฮอล์ ความผิดก็จะตกไปอยู่ที่ตัวผู้ต้องหา ที่จะมีความผิดสำเร็จที่ตำรวจมีอำนาจสันนิษฐานได้ทันทีว่าเมาแล้วขับ แต่หากในสำนวนไม่ได้กล่าวถึงความพยายามของพนักงานสอบสวนในการทดสอบแอลกอฮอล์ ก็จะเป็นความผิดของพนักงานสอบสวนที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา แม้จะมีการนำตัวผู้ต้องหามาตรวจเลือดภายหลัง ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหน้าที่ตามที่กฎหมายเขียนไว้ของตำรวจ คือต้องพยายามทดสอบแอลกอฮอล์ผู้ต้องหาในทันที ณ จุดเกิดเหตุ

“ตำรวจต้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมา อย่าให้เรื่องนี้ซ้ำรอยคดีวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส กระทิงแดง หน้าที่ของตำรวจคือต้องตรวจแอลกอฮอล์ในทันที ไม่ใช่ทอดเวลาไปนานแค่ไหนก็ได้ ยิ่งทอดเวลาออกไปยิ่งแสดงให้เห็นถึงความจงใจที่จะช่วยเหลือผู้ต้องหาให้มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยลง จะมาอ้างว่าหลังจากนั้นสามชั่วโมงได้ตรวจเลือดแล้วไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นพนักงานสอบสวนย่อมมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” พ.ต.ต.ชวลิตกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง